การส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากของสถานบันการเงินให้สรรพากร

การส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากของสถานบันการเงินให้สรรพากร

ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร 🌞

          เรื่องธนาคารส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย e-Paymet ซึ่งในช่วงแรก ๆ ที่กฎหมายออกมา หลาย ๆ คนถึงกับตั้งคำถามให้กับตัวเอง บัญชีเราจะถูกส่งให้กรมสรรพากรหรือเปล่า เราจะถูกตรวจสอบภาษีหรือไม่ จะโดนภาษีย้อนหลังมั้ย ลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย e-Payment กันหน่อย จะได้วางแผนรับมือกันไว้
📍 การส่งข้อมูลของธนาคาร สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับกรมสรรพากรเป็นส่วนหนึ่งของโครงการของกฎหมาย e-Payment
.
     📍กฎหมาย e-Payment คืออะไร
กฎหมาย e-Payment หรือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 เพื่อรองรับระบบภาษี และเอกสารธุรกรรมทางการอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์
.
     📍 e-Payment คืออะไร
e-Payment หมายถึง การทำธุรกรรมทางการเงิน โดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง รูปแบบการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็นการรูดบัตร การทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ผ่านเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้เกิดความรวดเร็ว และสะดวกสบายในการทำธุรกรรมมากขึ้น
.
     📍 วัตถุประสงค์ของการบังคับใช้กฎหมาย e-Payment
วัตถุประสงค์ของกฎหมาย เพื่อจัดเก็บภาษีผู้ประกอบธุรกิจ e-Commerce ทั้งผู้ที่อยู่นอกระบบภาษีให้เข้าระบบภาษี และผู้ที่อยู่ในระบบภาษีแล้วแต่ยังแสดงรายได้ไม่ครบถ้วน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันในการค้าขายทางอินเทอร์เน็ต และมีการการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ มักจะไม่มีการไปยื่นภาษีกันอย่างถูกต้อง กรมสรรพากรเองก็ไม่สามารถติดตาม ตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง ซึ่งกฎหมาย e-Payment จะช่วยให้กรมสรรพากรมีการติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
     📍 เงื่อนไขของกฎหมาย e-Paymemt
ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางอิเล็ทรอนิคส์ (E-wallet) จะส่งของมูลของผู้มีธุรกรรมฝากเงินหรือรับโอนรวมถึงรายการรับดอกเบี้ยเงินฝาก รวมถึงการรับเงินปันผล ภายใต้ธนาคารเดียวกัน ที่ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้
.
     1. ฝากหรือรับโอนทุกบัญชีรวมกัน ตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไปในปีนั้น และ มีจำนวนเงินรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป (ต้องเข้าทั้ง 2 เงื่อนไข เข้าเงื่อนไขเดียวไม่ได้)
.
     2. ฝากหรือรับโอนทุกบัญชี รวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปในปีนั้น จะต้องส่งข้อมูล โดยไม่พิจารณาว่าจะเป็นจำนวนเงินเท่าไร
.
     📍 ข้อมูลอะไรบ้างที่ถูกส่ง
     1.ชื่อ นามสกุล ของบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ และ คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
.
     2.เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร
.
     3. จำนวนครั้งที่ฝาก หรือรับโอน ทุกบัญชีรวมกัน
.
     4. จำนวนเงินที่ฝาก หรือรับโอนทุกบัญชีรวมกัน
.
     5.เลขบัญชี ทุกบัญชีที่มีการฝาก หรือ โอนเงินเข้า
.
     📍 กฎหมาย e-Payment มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่
กฎหมาย e-Payment มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 โดยธนาคารและสถาบันการเงินได้มีการนำส่งข้อมูลให้กับสรรพากรครั้งแรกภายใน 31 มีนาคม 2563 โดยเป็นข้อมูลเงินฝากของ วันที่ 24-31 ธันวาคม 2562 ซึ่งถือเป็นช่วงทดสอบระบบไปในตัว
ในปีต่อ ๆ ไป ธนาคารและสถาบันการเงินจะนำส่งข้อมูลของทั้งปี นำส่งภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป
.
     📍 กฎหมาย e-Payment กระทบใครบ้าง
ผู้มีการทำธุรกรรมทางการเงินในปริมาณมาก และจำนวนเงินมาก ๆ พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ ซึ่งหากมีการยื่นภาษีอย่างถูกต้อง ครบถ้วน กันอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องกังวลใด ๆ แต่สำหรับผู้ที่ยังปฏิบัติกันไม่ถูกต้อง คงต้องเตรียมวางแผนปฏิบัติกันล่วงหน้า
.
     👍 เตรียมตัวรับมือกับกฎหมาย e-payment อย่างไ
สำหรับผู้ที่อยุ่ในเกณฑ์ที่ธนาคารส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ไม่ใช่ว่าทุกรายที่ธนาคารส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรจะถูกเรียกตรวจสอบภาษีทั้งหมด ทางกรมสรรพากรจะมีหลักเกณฑ์การพิจาณาในหลาย ๆ ประการ แต่ก็ถือว่าเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยง แต่หากท่านที่มีการยื่นภาษีที่ถูกต้องครบด้วยอยู่แล้วก็ไม่ต้องกังวลใด ๆ แต่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ควรต้องหันมาเตรียมตัว หากเกิดถูกเรียกตรวจสอบเมื่อไรจะได้สามารถชี้แจงและมีเอกสารชึ้แจงรายได้ต่าง ๆ ได้ชัดเจน
.
     1. จัดทำบัญชีรับ – จ่าย
.
     2. แยกบัญชีธุรกิจ กับ บัญชีส่วนตัวออกจากกัน จะได้ควบคุมยอดรายรับได้ง่ายขึ้น
.
     3. รายการเงินเข้าบัญชี ต้องมีที่มา สามารถชี้แจงและควรมีเอกสารประกอบ
.
     4. หากมีรายได้จากการประกอบกิจการเป็นจำนวนมาก ควรพิจารณาเรื่องการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเนื่องจากสารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงและอัตราภาษีจะถูกกว่า
.
      🙂 เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กฎหมายภาษี e-Payment การส่งบัญชีเงินฝากให้สรรพากร หากรู้และเข้าใจ มีการวางแผนอย่างรัดกุม เรื่องเสียภาษีย้อนหลัง เรื่องถูกปรับเรื่องภาษี ก็จะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ หรือผู้ที่มีการทำธุรกรรมทางการเงินทางอินเทอร์เน็ต มาก ๆ ค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *