ข้อควรรู้ ค้าขายออนไลน์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ค้าขายออนไลน์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

📍ข้อควรรู้ ค้าขายออนไลน์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
.
🧐สัญลักษณ์สีม่วง ที่เรามักจะเห็นตามร้านค้าออนไลน์ใหญ่ ๆ ที่เขียนว่า DBD คือ ตราสัญลักษณ์ของ ” ร้านค้า ที่ผ่านการจดทะเบียนการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ” ซึ่งร้านไหน ที่มีสัญลักษณ์นี้ จะช่วยการันตีให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจได้ และปลอดภัยนั่นเอง
เหตุผลที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์คืออะไร?
เพื่อยืนยันการมีตัวตนของร้านค้าออนไลน์ ซึ่งจุดนี้ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสถานะและการมีตัวตนจริงของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี เพราะชื่อของผู้ประกอบการทั้งหมด จะถูกรวบรวมอยู่ในฐานข้อมูลของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลที่มีการเผยแพร่ได้จาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยข้อมูลได้แยกตามประเภทธุรกิจ
สัญลักษณ์ DBD หรือการจดทะเบียนออนไลน์นั้นมีประโยชน์มาก ๆ โดยจะขอแบ่งเป็นหัวข้อหลัก ๆ ง่าย ๆ ดังนี้
.
1 )สำหรับผู้ประกอบการ
มีประโยชน์ เพราะช่วยให้ได้รับความน่าเชื่อถือ และผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานในการปฏิบัติงานและดำเนินธุรกิจแล้ว ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจของเพื่อน ๆ ให้ดูดีขึ้น มีมาตรฐานมากขึ้น และสร้างโอกาสขยายตลาดสู่ต่างประเทศ
.
2) สำหรับผู้บริโภค
มั่นใจได้ว่าจะซื้อสินค้า หรือ บริการจากเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ มีตัวตนยืนยันจริง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานธุรกิจ หากประสบปัญหา สามารถร้องเรียนไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อดำเนินการแก้ไขได้ด้วย
.
👉ธุรกิจที่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มี 4 ประเภทดังนี้
-ธุรกิจที่มีการซื้อขาย ผ่านอินเตอร์เน็ต
– ผู้ให้บริการ Web Hosting
– ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP)
– ผู้ให้บริการตัวกลางในการซื้อขายบนอินเตอร์เน็ต ( Shopee, LAZADA, Kaidee ต่าง ๆ )
.
สำหรับร้านค้าที่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนพาณิชย์นั้น ข้อมูลจากหน้าเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ระบุไว้ว่า ธุรกิจของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทย และมีการซื้อขายสินค้า/บริการ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบ เว็บไซต์, ร้านค้าใน Social Media, ร้านค้าใน e-Marketplace หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ และจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับแต่เริ่มประกอบพาณิชยกิจ
.
ทั้งนี้ เว็บไซต์ที่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ก็คือ เว็บไซต์ที่มีระบบตะกร้าสินค้า ให้ผู้ซื้อคลิกสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ได้เลย และยังครอบคลุมไปถึง เว็บไซต์ที่มีการระบุราคาสินค้า/บริการ แล้วมีการแจ้งชัดเจนเลยว่า ให้สั่งซื้อหรือติดต่อผ่านโทรศัพท์ อีเมล หรือกรอกแบบฟอร์มเพื่อสั่งซื้อ (มีเจตนาในการขายสินค้า/บริการ) เป็นต้น
.
👉ส่วนของการซื้อขายทางออนไลน์ ที่ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่
– การประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาสินค้า แต่ไม่ได้มีการซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต (ทำการค้าในช่องทางปกติ) แม้จะมีข้อความแจ้งว่าให้ติดต่อได้ เช่น สนใจโทร.ติดต่อ… หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่…. เป็นต้น
– การโฆษณาสินค้าของตนเอง โดยลักษณะของการโฆษณานั้นไม่ใช่วัตถุที่ประสงค์หลักของกิจการ และไม่ใช่ช่องทางค้าปกติ แม้จะมี banner ของผู้อื่นมาติดและมีรายได้จาก banner ก็ตาม
– การประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ข้อมูลแก่สมาชิกหรือบุคคลทั่วไป โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือบริการ เช่น เพื่อการสอน, ประกาศรับสมัครงาน ฯลฯ
– การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท หรือสินค้า
– เว็บไซต์ส่วนตัว (ส่วนบุคคล) ที่สร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว, การงาน, การศึกษา, หรือความสนใจส่วนตัว
– เว็บไซต์ที่เป็นสื่อกลางด้านข้อมูล โดยมีจุดประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยไม่มีการเสียค่าสมาชิกหรือค่าใช้จ่ายใดๆ
สุดท้าย เมื่อร้านค้าออนไลน์ได้จดทะเบียนพาณิชย์แล้ว สามารถติดต่อขอรับเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *