ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

           ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อคือ เอกสารที่ผู้ประกอบการค้าปลีกหรือผู้ให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมากที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ คือผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก หรือการให้บริการในลักษณะรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. เป็นการขายสินค้าที่ขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปใช้บริโภค หรือใช้สอยโดยมิได้วัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อได้ เช่น การขายสินค้าของกิจการแผงลอย กิจการขายของชำ กิจการร้านขายยา  กิจการจำหน่ายน้ำมัน และห้างสรรพสินค้า
  2. การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น การให้บริการของกิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม กิจการซ่อมแซมทุกชนิด กิจการโรงภาพยนตร์ และกิจการสถานบริการน้ำมัน

การเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อนั้น หากเข้าลักษณะเป็นกิจการค้าปลีกแล้ว สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้เลย  โดยไม่ต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร  แต่หากต้องการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วยเครื่องบันทึกเงินสดจะต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน

รายการของใบกำกับภาษีอย่างย่อ

 ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

 (1) คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

 (2) ชื่อหรือชื่อย่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี

 (3) หมายเลขลำดับของใบกำกับ และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

 (4) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

 (5) ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่า “ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว

 (6) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

 (7) ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

ชื่อ ชนิด หรือประเภทของสินค้าตาม (4) จะออกเป็นรหัสก็ได้ โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องแจ้งรหัสให้อธิบดีทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วันก่อนวันใช้รหัสนั้น

          รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ เป็นหน่วยเงินตราไทยและใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นที่มิใช่เป็นภาษาอังกฤษ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

          การจัดทำรายการของใบกำกับภาษีอย่างย่อ กฎหมายไม่ได้เคร่งครัดเหมือนกับการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เนื่องจากภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ดังนั้น จึงสามารถขีด ฆ่า ขูด ลบ ตกแต่ง ต่อเติม หรือแก้ไขให้ถูกต้องได้  

          ใบกำกับภาษีอย่างย่อสามารถจัดให้มีรายการนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดได้ เช่น ใบกำกับภาษีอย่างย่อบางฉบับที่มีรายการราคาสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่แยกออกจากกันก็สามารถทำได้

ข้อสังเกต

          1.รายการของใบกำกับภาษีอย่างย่อ แตกต่างจากใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป คือ

                1.1 ไม่ต้องแสดงชื่อ ที่อยู่ เลขประจ าตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

                1.2 ชื่อ ชนิด หรือประเภทของสินค้าจะออกเป็นรหัสก็ได้

                1.3 จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มให้รวมอยู่ในมูลค่าของสินค้าหรือบริการ โดยต้องหมายเหตุว่าราคาได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว

          2. ผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ หากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้องใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ ผู้ประกอบการค้าปลีกจะต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

          3. ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับใบกำกับภาษีอย่างย่อจะนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ แต่หากผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเป็นผู้รับบริการ ประสงค์จะนำภาษีซื้อไปคำนวณภาษีหักออกจากภาษีขาย ก็ให้เรียกร้องเอาใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้

 ประโยชน์ของการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ไม่ต้องระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในใบกำกับภาษีอย่างย่อ ซึ่งสะดวกแก่ผู้ออก เพราะปัญหาส่วนหนึ่งของการออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปก็คือ ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการมักไม่บอกชื่อที่อยู่ทำให้ไม่สามารถออกใบกับภาษีแบบเต็มรูปได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *