จ่ายเงินได้ให้ชาวต่างชาติหักภาษีอย่างไรให้ถูกต้อง

จ่ายเงินได้ให้ชาวต่างชาติหักภาษีอย่างไรให้ถูกต้อง  ปัจจุบันนี้มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นิติบุคคลที่มีการจ้างงานหรือได้รับบริการจากชาวต่างชาติ เมื่อมีการจ่ายเงินได้ประเภทต่าง ๆ ให้กับชาวต่างชาติ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ และหักด้วยอัตราเท่าไร เป็นปัญหาที่หลาย ๆ ท่านอาจยังสับสนอยู่ ไปทำความเข้าใจกันค่ะก่อนอื่นมาดูการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยกันก่อนว่า จะมีการจัดเก็บภาษีโดยใช้หลักแหล่งเงินได้และหลักถิ่นที่อยู่ ตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร

หลักแหล่งเงินได้ มีอะไรบ้าง

  • เงินที่ได้จากการที่ทำงานในประเทศไทย
  • เงินที่ได้จากการทำกิจการในประเทศไทย
  • เงินที่ได้จากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย
  • เงินที่ได้จากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

ดังนั้น บุคคลใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ  หากมีเงินได้จากแหล่งเงินได้จากประเทศไทย  ผู้มีเงินได้นั้นต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ และจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันหรือไม่ก็ตาม กฎหมายบังคับให้จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นนั้น          

หลักถิ่นที่อยู่ มีอะไรบ้าง

  • ผู้ที่มีเงินได้จากการทำงานในต่างประเทศ
  • ผู้ที่มีเงินได้จากกิจการในต่างประเทศ
  • ผู้ที่มีเงินได้จากทรัพย์สินที่ต่างประเทศ

เงื่อนไขในการจัดเก็บภาษีหลักถิ่นที่อยู่ จะเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อครบเงื่อนไข 3 ข้อคือ

1.ผู้มีเงินได้มีเงินได้จากงานที่ทำในต่างประเทศ หรือจากกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

2.ได้นําเงินได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้น

3.ผู้มีเงินได้นั้นอยู่อาศัยในประเทศไทยถึง 180 วันดังนั้นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ถือว่ามีเงินได้จากการงานที่ทำในประเทศไทย ต้องเสียภาษีในประเทศไทย  ไม่ว่าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม เมื่อบริษัทมีการจ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 จะต้องมีการหักภาษี ณ ทีจ่าย  ซึ่งอัตราการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้แต่ละประเภท มีดังต่อไปนี้. 

1.จ่ายเงินได้ตามาตรา 40(1)-(2) ได้แก่เงินเดือน ,ค่าจ้าง, ค่านายหน้า

กรณีเป็นลูกจ้างประจำ ไม่ว่าชาวต่างชาตินั้นจะอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันหรือไม่ จะหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า โดยนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.1 เหมือนกับลูกจ้างที่เป็นคนไทย

กรณีไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำ     หากอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน ถือว่าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย หักภาษีตามอัตราก้าวหน้า  นำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.1      หากอยู่ในประเทศไม่ถึง 180 วัน  หักภาษี 15% นำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.1.

  1. จ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(3) ค่ากู๊ดวิลล์, ค่าลิขสิทธิ์

กรณีอยู่ประเทศไทยถึง 180 วัน  หักภาษีตามอัตราก้าวหน้า  นำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด. 2กรณีอยู่ประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน  หักภาษี 15%  นำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด. 2

  1. จ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) ค่าดอกเบี้ย

ไม่คำนึงว่าจะอยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันหรือไม่ จะหักภาษี 15% ทั้ง 2 กรณี โดยนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด. 2

  1. จ่ายเงินได้ตามมาตรา 40(5)-(8 ) ได้แก่ค่าเช่า, ค่าวิชาชีพอิสระ,ค่าจ้างทำของ,ค่าบริการ

กรณีอยู่ประเทศไทยถึง 180 วัน  หักภาษีตามอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย (เหมือนคนไทย)  นำส่งแบบ ภ.ง.ด. 3กรณีอยู่ประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน  หักภาษี 15%  นำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด. 3    

โดยสรุปคือ กรณีที่มีการจ่ายเงินได้ให้ชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกกรณี แต่จะหักภาษีด้วยอัตราเท่าไร  ต้องพิจารณาว่าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่  ซึ่งการที่จะถือว่าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยนั้น หมายถึง อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีนั้นรวม ๆ กันแล้วถึง 180 วัน โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ติดต่อกันยาวถึง 180 วัน อาจจะไป ๆ มา ๆ แต่รวม ๆ กันแล้ว ถึง 180 วัน ดังกล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *