ยอดขายเกิน 1.8 ล้านทำอย่างไรดี

ยอดขายเกิน 1.8 ล้านทำอย่างไรดี

ผู้ประกอบการร้านค้าที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้าน

ต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

                🍀 เป็นคำถามที่พ่อค้า แม่ค้าขายของออนไลน์ และผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ หรือโครงการคนละครึ่งสอบถามเข้ามากันเยอะมาก แอดมินขอสรุปเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำหรับเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการที่ค้าขายแล้วมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทไปแล้ว เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจนะคะ
               🏦 ในการดำเนินธุรกิจ การเสียภาษีให้ถูกต้อง เป็นหน้าที่ของทุกธุรกิจจะต้องดำเนินให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อมีรายได้คงหนีไม่พ้นเรื่องของภาษีเป็นแน่ ไม่ว่าจะประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา ร้านค้า หรือนิติบุคคลก็ตาม โดยในการทำธุรกิจสักธุรกิจหนึ่ง มักจะมีเรื่องของภาษีหลายประเภทเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกอบการควรเรียนรู้เรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไว้บ้าง และต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการถูกตรวจสอบย้อนหลัง และเกิดความยุ่งยากในอนาคตได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) 
      เป็นภาษีประเภทหนึ่งที่จัดเก็บจากมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือการให้บริการและการนำเข้าสินค้า โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่จัดเก็บภาษีนี้จากผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการแล้วนำส่งกรมสรรพากร
.
          โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีการขายสินค้า หรือให้บริการ ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (สินค้าหรือบริการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น พืชผลทางการเกษตร สัตว์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ยาสำหรับพืชและสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน สถานศึกษา นี่คือประเภทสินค้าและบริการบางส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งผู้ประกอบการสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.rd.go.th ) เมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดรายรับที่เกิน 1.8 ล้านบาท
.
          ถึงจุดนี้ผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่านอาจลังเลและสงสัยกันว่าควรจะจดภาษีมูลค่าเพิ่มดีหรือไม่ แท้ที่จริงแล้ว ผู้ประกอบการไม่สิทธิที่จะเลือกว่าจะจดภาษีมูลค่าเพิ่มดี หรือไม่จดดี เพราะตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า หากมียอดขายเกิน 1.8 ล้าน จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายได้เกิน หากผู้ประกอบการไม่จดภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้อง จะเกิดความเสี่ยงจากการถูกตรวจสอบและประเมินภาษีย้อนหลังพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีกด้วย
.
          ✅สิ่งที่ต้องทำเมื่อเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
     1.เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และออกใบกำกับภาษีส่งมอบให้ผู้ซื้อทุกครั้ง
     2.จัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
     3.ยื่นแบบ ภ.พ.30 พร้อมนำส่งภาษี(ถ้ามี) ทุกเดือน
.
          ✅ข้อดีของการเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้องเมื่อยอดขายเกิน 1.8 ล้าน
     1. ถือเป็นการปฏิบัติที่ถูกกฎหมาย ไม่ต้องสุ่มเสี่ยงกับการถูกตรวจสอบย้อนหลัง ทำให้ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในภายหลัง
.
     2. สามารถวางแผนภาษีได้ คือ สามารถเรียกเก็บ VAT 7% จากผู้ซื้อสินค้าได้ ซึ่งผู้ประกอบการบางท่านอาจติดปัญหาตรงที่ เมื่อเรียกเก็บ VAT จากผู้ซื้อแล้ว จะทำให้สินค้าที่ขายมีราคาสูงกว่าคู่แข่งที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งผู้ขายายอาจจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้ในกรณีนี้
.
     3. สามารถนำภาษีซื้อ มาหักออกจากภาษีขายได้ . ภาษีที่ต้องชำระ = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ . เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว มีการซื้อสินค้ามาขาย หรือจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับธุรกิจสามารถขอใบกำกับภาษี นำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายได้ ทำให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยลง
.
     4. สามารถเดินหน้าบริหารธุรกิจได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลใจว่าจะถูกตรวจสอบหรือโดนภาษีย้อนหลังเมื่อไร
.
         ❌ ข้อเสียของการไม่เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องเมื่อยอดขายเกิน 1.8 ล้าน
.
     1. หากถูกประเมินภาษีย้อนหลังจะต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษี และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือร้อยละ 18 ต่อปี นั่นเอง
.
      2. จะไม่สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากผู้ซื้อได้ ซึ่งหากถูกประเมินภาษีย้อนหลังและต้องจ่ายภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเจำนวนมากหรืออาจจะเป็นเงินจากกำไรที่หามาได้ทั้งหมดก็เป็นได้
.
     3. เมื่อถูกประเมินภาษีย้อนหลัง ภาษีที่ต้องเสียจะเป็นจำนวนภาษีขาย 7% จะไม่สามารถนำภาษีซื้อมาใช้หักได้ ถึงแม้จะมีใบกำกับภาษีที่ถูกต้องก็ตาม
.
     4. เมื่อทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จะมีความกลัวและกังวลกับถูกตรวจสอบย้อนหลัง ทำให้ไม่สามารถบริหารธุกิจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอายุความในการตรวจสอบย้อนของกรมสรรพากร นานถึง 10 ปีกันเลยทีเดียว
.
          มาถึงตอนนี้ ผู้ประกอบการที่มียอดขายหรือให้บริการที่เกิน 1,.8 ล้านบาท และยังไม่มีคำตอบให้กับตัวเองว่าจะเลือกทางไหนดี น่าจะพอมองเห็นภาพกันบ้างแล้ว โดยได้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้ดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มของภาษีมูลค่าเพิ่ม บอกตามตรงว่าโหดเอาเรื่องทีเดียว
.
          📌 สมมุติ ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง 2 ปี โดยปีแรกมีรายได้ 3 ล้านบาท และปีที่ 2 มีรายได้ 1.5 ล้านบาท รวมรายได้ 2 ปี คือ 4.5 ล้านบาท รายได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ 2.7 ล้านบาท ( 4.5 – 1.8 = 2.7 ลบ.)
.
          จากกรณีข้างต้นจะเห็นว่า ในปีแรกมีรายได้ 3 ล้านบาท ซึ่งเกินจากฐาน 1.8 ล้านบาท ผู้ประกอบการมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งภาษีขาย 7% จากยอด 1.2 ล้านบาท บวกกับรายได้ของปีที่ 2 อีก 1.5 ล้านบาท รวมยอดที่ต้องนำไปคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มคือ 2.7 ล้านบาท
.
          จะสังเกตุได้ว่าในปีที่ 2 แม้จะมียอดรายได้เพียง 1.5 ล้านบาท ซึ่งไม่ถึง 1.8 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะถือว่าผู้ประกอบการต้องเข้าอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วตั้งแต่ปีแรก
.
          ภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับที่ผู้ประกอบการจะต้องเสีย มีดังนี้
.
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (2,700,000 x 7%) = 189,000 บาท
เบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษี (189,000 x 2) = 378,000 บาท
เงินเพิ่มต่อเดือน (189,000 x1.5%) =2,835 ต่อเดือน
.
💰 รวมภาษีและเบี้ยปรับทั้ง 2 ปี เป็น 567,000 บาท
หากผู้ประกอบการไม่สามารถชำระภาษีให้ครบถ้วนได้ จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกเดือนละ 2,835 บาท จนกว่าจะชำระภาษีครบ
.
ข้างต้นคือตัวอย่างการคิดภาษีและเบี้ยปรับ และหากผู้ประกอบการถูกประเมินย้อนหลัง สัก 5 ปี หรือ10 ปี จำนวนเงินภาษีและเบี้ยปรับจะมากขนาดไหน บางทีกำไรที่หาได้อาจไม่พอจ่ายภาษีก็เป็นได้ หรืออาจล้มละลายกันได้เลยทีเดียว
.
          📍เป็นผู้ประกอบการที่เป็นบุคคบธรรมดา นอกจากภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่าลืมวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันด้วยนะคะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *