สัญญาเช่าต้องติดอากรแสตมป์อย่างไร

สัญญาเช่าต้องติดอากรแสตมป์อย่างไร

🎯 สัญญาเช่าต้องติดอากรแสตมป์ อย่างไร
อากรแสตมป์ในที่นี้หมายถึง อากรแสตมป์ที่เป็นภาษีประเภทหนึ่งตามประมวลรัษฎากร ไม่ใช่แสตมป์ที่ติดซองจดหมายอย่างที่หลาย ๆ ท่านเข้าใจกัน นะคะ
.
สัญญาเช่าแบบไหนจะต้องติดอากรแสตมป์ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
👉 สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์
👉 สัญญาเช่าสังหาริมทรัพย์
.
1. สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น เช่าที่ดิน โรงเรือน อาคารสำนักงาน สิ่งปลูกสร้างอื่นหรือแพ เหล่านี้ถือเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ จะต้องมีการเสียอากรแสตมป์ ยกเว้น เช่าอสังหาริมทรัพย์ในการทำนา ทำไร หรือทำสวน จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียอากร
.
📌 ติดอากรแสตมป์ จำนวนเท่าไร
ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของเงิน 1,000 บาท ของค่าเช่าหรือเงินกินเปล่า หรือทั้งสองอย่างรวมกันตลอดอายุการเช่า จะต้องเสียอากร 1 บาท หรือคิดง่าย ๆ คือ เสีย 0.1% ของค่าเช่าตลอดอายุสัญญาเช่า
.
📌 อายุของสัญญาเช่า
(1) ถ้าสัญญาเช่ามิได้กำหนดอายุการเช่าให้ถือว่ามีกำหนด 3 ปี
(2) ถ้าสัญญาเช่าฉบับใดครบกำหนดอายุการเช่า หรือครบกำหนด 3 ปี ตาม (1) แล้วผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และให้ผู้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วง ทั้งมิได้ทำสัญญาใหม่ ให้ถือว่าสัญญาเช่าเดิมนั้นได้เริ่มทำกันใหม่ โดยไม่มีกำหนดอายุการเช่า และต้องเสียอากรภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ถือว่าเริ่มทำสัญญาใหม่นั้น
📌 ใครต้องเป็นฝ่ายเสียอากร
ตามกฎหมายกำหนด ผู้มีหน้าที่เสียอากร คือ “ผู้ให้เช่า” และผู้ที่ต้องขีดฆ่าแสตมป์ คือ “ผู้เช่า
แต่….คู่สัญญาสามารถตกลงกันได้ว่าใครมีหน้าที่ต้องเสียอากร โดยระบุไว้ในสัญญาเช่า หากไม่ได้ตกลงกันไว้ก็จะเป็นตามที่กฎหมายกำหนด
.
📌 วิธีการเสียอากร
1. ซื้ออากรแสตมป์เป็นดวงมาติด ซึ่งหาซื้อได้ที่กรมสรรพากร หน่วยงานราชการ หรือตามร้านเครื่องเขียนบางร้านอาจมีขาย
2.นำสัญญาเช่าทั้งต้นฉบับและคู่ฉบับ ไปเสียเป็นเงินได้ที่สำนักงานกรมสรรพากร
.
📌 ถ้าไม่เสียอากรจะเป็นอย่างไร
การไม่ติดอากรแสตมป์ ติดไม่ครบ ติดไม่ถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ถือว่าเป็นการติดไม่สมบูรณ์ มีความผิดดังนี้
.
1.ผู้มีหน้าเสียอากรจะต้องเสียเงินเพิ่มนอกเหนือจากค่าอากรที่ต้องเสีย “นับจากวันทำสัญญาเช่าเสร็จบริบูรณ์”
• ปิดอากรหลัง 15 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน เสียเงินเพิ่ม 2 เท่าของจำนวนอากร หรือ 4 บาทแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
• ปิดอากรเกิน 90 วัน เสียเงินเพิ่ม 5 เท่าของจำนวนอากร หรือ 10 บาทแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
• กรณีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ตรวจพบความผิดเอง ต้องเสียเงินเพิ่ม 6 เท่าของจำนวนอากร หรือ 25 บาทแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
.
2.ตราสารดังกล่าวจะไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในศาลได้จนกว่าจะได้เสียอากรแสตมป์ให้ถูกต้อง
.
📌 ค่อยซื้ออากรตามติดภายหลังได้หรือไม่
ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะอากรแสตมป์ จะรหัสการผลิตกำหนดไว้ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าแสตมป์ดังกล่าว เป็นแสตมป์ที่ผลิตขึ้นมาก่อนหรือหลังวันที่ที่ลงในสัญญาเช่า
.
2. สัญญาเช่าสังหาริมทรัพย์ เช่น เช่ารถยนต์ เช่าเครื่องถ่ายเอกสาร จำพวกนี้ จะได้รับการยกเว้นอากรแสตมป์
.

15 thoughts on “สัญญาเช่าต้องติดอากรแสตมป์อย่างไร

  1. นพดล says:

    กรณีค่่าเช่าตลอดสัญญามีมูลค่า สูง เช่น มากกว่า 3 ล้านบาท คิดเป็นเงิน มากกว่า 3 พันบาท จะติดอากรแสตมป์อย่างไรครับ เนื่องจากอากรแสตมป์เท่าที่เห็นมีมูลค่า 5 บาท ถ้า 3พันบาทแทบจะไม่มีที่ติดแสตมป์ลงบนสัญญาเลยนะครับ

    • คุยเฟื่องเรื่องTAX says:

      สัญญาเช่าตลอดสัญญาตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียเป็นตัวเงิน ถ้าไม่เกิน 1 ล้านติดเป็นอากรแสตมป็ได้ และอากรแสตมมีมูลค่า 5 บาท 10 บาท และ 30 บาท

  2. พุทธสีห์ อายินดี says:

    แล้วถ้าเป็นห้องเช่าเล็กๆ1ห้อง ปล่อยเช่าสัญญาระบุแค่การเช่าเวลาอย่างต่ำ3เดือนหรือ6เดือนค่าเช่า3,000บาทรวมค่าส่วนกลาง330บาทจะติดอากรสแตมป์อย่างไรครับ บางทีผู้เช่า เช่า1เดือนแล้วย้ายออกรอีก2เดือนถึงจะมีผู้เช่าใหม่ กรณีอย่างนี้นับติดอากรสแตมป์อย่างไรครับแล้วนำรายได้ไปคิดภาษีโรงเรือนไงครับ ผมทำงานประจำด้วย ขับแกร็ปอาขีพเสริแล้วมีห้องปล่อยเช่า1ห้องครับ.

  3. Nutt says:

    แล้วการเสียภาษีนั้น จะคิดค่าภาษีอย่างไรครับ เช่นค่าเช่า 20k สัญญา 1 ปี มูลค่าตลอดสัญญาเช่า 240k (ติดอากรแสมป์ 24 บาท) การนำไปยื่นภาษีที่กรรมสรรพากร จะเสียภาษีเท่าไหร่ครับ

  4. นิสิต says:

    คู่ฉบับ สัญญาเช่าบ้านจะต้องติดอากร หรือชำระ ตามต้นฉบับ หรือไม่อย่างไรครับ

  5. PP says:

    สัญญาเช่า มีเรื่องเงินประกัน อีก 2 เดือน ต้องติดอากรแสตม์หรือไม่คะ

  6. จริยา says:

    สัญญาเช่าตลอดสัญญาตั้งแต่1ล้านขึ้นไป ทางผู้เช่าต้องรับผิดชอบค่าอากรแสตมป์ แต่ให้ทางผู้ให้เช่าไปสรรพากรได้มั้ยคะ

  7. วิทย์ says:

    สัญญาเช่า 1 ปี มูลค่าการเช่ารวม 5 แสนบาท ต้องติดอากรแสตมป์ หรือตีตราสารเป็นตัวเงินที่สรรพากรครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *