ใบกำกับภาษีปลอม

ใบกำกับภาษีปลอม

ว่าด้วยเรื่องใบกำกับภาษีปลอม

          ใบกำกับภาษี ถือเป็นหลักฐานที่มีความสำคัญมาก ที่ผู้เสียภาษีนำมาเป็นหลักฐานในการเคดิตภาษีหรือขอคืนภาษี หากว่าผู้เสียภาษีนำใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้องมาเครดิตภาษีหรือขอคืนภาษี ทำให้รัฐเกิดความเสียหายในการเก็บภาษี ซึ่งใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้องมีหลายกรณีด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ใบกำกับภาษีปลอม เพราะถือเป็นการเจตนาทุจริต หลีกเลี่ยงภาษี มีความผิดร้ายแรง เป็นคดีอาญา มีโทษถึงจำคุก ไม่สามารถเสียค่าปรับแล้วจบได้ หากกรมสรรพากรตรวจพบการใช้ใบกำกับภาษีปลอมเพียง 1 ใบ จะถูกส่งฟ้องคดีอาญาทันที โดยใบกำกับภาษีปลอม 1 ใบ ถือเป็นความผิด 1 กระทง ดังจะเห็นว่าเมื่อเดือน มิถุนายน 2561 ศาลอาญาตัดสินจำคุกผู้กระทำผิดออกใบกำกับภาษีขาย โดยไม่ได้ประกอบธุรกิจจริง 8 ฉบับ รวม 8 กระทง ๆละ 1 ปี เป็นโทษจำคุก 8 ปี
.
ใบกำกับภาษีปลอมคืออะไร
1. ใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยกระทำไปในทางทุจริต เจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
2. ใบกำกับภาษีที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ออก สรรพากรถือเป็นใบกำกับภาษีปลอม โดยภาระในการพิสูจน์เป็นของผู้ใช้ใบกำกับภาษี
.
      ผู้ใช้ใบกำกับภาษี
1. ผู้ที่ตั้งใจใช้ใบกำกับภาษีปลอม คือเจตนาทุจริต หลีกเลี่ยงภาษี เช่น ซื้อใบกำกับภาษีปลอมมาใช้เครดิตภาษีหรือขอคืนภาษี
2. ผู้ที่ไม่ได้ตั้งใจใช้ใบกำกับภาษีปลอม คือ ผู้ที่ไม่รู้ว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม กรณีนี้ ก่อนใช้ใบกำกับภาษีเครดิตภาษีหรือขอคืนภาษี ให้ตรวจสอบรายละเอียดใบกำกับภาษีให้ถูกต้อง และตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในเวปไซต์ของกรมสรรพากรก่อน
.
     ตรวจสอบใบกำกับภาษีก่อนใช้เครดิตภาษีหรือขอคืนภาษี
1. ตรวจสอบใบกำกับภาษีต้องมีข้อความถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด
มาตรา 86/4 ภายใต้บังคับมาตรา 86/5 และมาตรา 86/6 ใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีและในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี
(5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
(6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
(7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
(😎 ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
2. คำว่า “ใบกำกับภาษี” ต้องพิมพ์จากโรงพิมพ์ หรือ พิมพ์จากคอมพิวเตอร์ ทั้งฉบับ
3. ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ต้องพิมพ์จากโรงพิมพ์ หรือ พิมพ์จากคอมพิวเตอร์ ทั้งฉบับ
4. ต้องไม่มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ (ตามข้อ1)
5. ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เวปไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th
.
     ใบกำกับภาษีปลอมทำได้อย่างไรบ้าง
1. จัดตั้งบริษัทขึ้นมา เพื่อออกใบกำกับภาษีขาย ให้กับผู้ใช้ใบกำกับภาษีทั่วไป โดยไม่ได้มีการขายสินค้าจริง
2. ผู้ประกอบการที่มีการขายสินค้าเป็นปกติ แต่ไม่ได้ออกใบกำกับภาษี ต่อมาได้เอายอดที่ขายไปแล้ว มาออกใบกำกับภาษีเพื่อขายให้ผู้ใช้
3. ใบกำกับภาษีที่ออกรายการสินค้า ไม่ตรงกับสินค้าที่ซื้อจริง
4. ใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
5. ใบกำกับภาษีที่ออกเกินกว่ามูลค่าที่ซื้อขายจริง
6. การปลอมใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการรายอื่น
.
      จุดสังเกตของกรมสรรพากรในการตรวจสอบใบกำกับภาษีปลอม
1.ประเภทสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง เช่น วัสดุก่อสร้าง ผ้า พลาสติก กระดาษ อัญมนี เคมีภัณฑ์
2. สินค้าที่ซื้อไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ
3. ระยะทางที่ซื้อสินค้าหรือบริการ ว่าห่างไกลกับสถานประกอบการหากสินค้าห่างไกลมาก มีเหตุสงสัยเพียงพอว่าเหตุใดจะซื้อสินค้าที่ห่างไกลจากสถานประกอบการ
4. ใบกำกับภาษีมูลค่าสูง ราคาไม่น่าเชื่อถือ เขียนด้วยลายมือ และจ่ายชำระเป็นเงินสด
5. ใบกำกับภาษีไม่พิมพ์ “เล่มที่”
6.แบบฟอร์มใบกำกับภาษีคล้ายกัน หรือลายมือคล้ายกัน แต่ชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีต่างกัน
7.วิธีการซื้อสินค้า ไม่ได้ซื้อจาก supplier โดยตรง แต่ซื้อจากเซลล์ หรือ พนักงานขายสินค้า
8.ใบกำกับภาษีซื้อที่มีการนำมาใช้ในช่วงปลายเดือน หรือปลายปี
9.ซื้อจากผู้ประกอบการรายเดียว ในวันที่ติดๆ กัน หรือใกล้กัน
.

     โทษของผู้ที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอม

     โทษทางแพ่ง
ผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม
1. เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี
2. เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของ 1 เดือนให้นับเป็น 1 เดือน)
ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม
1. เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี
2. เสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ฐานยื่นภาษีซื้อไว้เกิน
3. เสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน)
     โทษทางอาญา
ทั้งผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม และ ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม
โทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี และ ปรับตั้งแต่ 2,000 บาท – 700,000 บาท
.
เห็นแบบนี้แล้วผู้ประกอบการทั้งหลาย หลีกเลี่ยงกันใช้ใบกำกับภาษีปลอมกันนะคะ อย่าเสี่ยงกับเรื่องใบกำกับภาษีปลอม เพราะอาจทั้งถูกปรับ ถูกจำคุก หรืออาจล้มละลายกันได้เลยทีเดียว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *