10 เรื่องต้องทำหลังจดบริษัท

10เรื่องต้องทำหลังจดบริษัท

10 เรื่องต้องทำเมื่อจดบริษัท

.
ช่วงนี้จะมีผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์ หรือประกอบธุรกิจอื่น ๆ ที่เดิมประกอบกิจการแบบบุคคลธรรมดาอยู่ ได้ทำการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกันมากขึ้น ด้วยหลาย ๆ สาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นยอดขายเกิน 1.8 ล้าน หรือต้องการจะขยายธุรกิจ แต่หลาย ๆ ท่าน ทราบกันหรือไม่ว่า เมื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทแล้ว มีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
.
1️⃣ จัดทำใบหุ้นให้ผู้ถือหุ้น
ใบหุ้น คือหนังสือสําคัญซึ่งบริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้นเพื่อเป็นหลักฐานแสดงการถือหุ้น ใบหุ้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
(1) ใบหุ้นชนิดระบุชื่อ คือใบหุ้นชนิดที่ระบุชื่อผู้ถือหุ้น
(2) ใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ คือใบหุ้นชนิดที่ไม่ระบุชื่อผู้ถือหุ้น แต่จะระบุในใบหุ้นนั้นว่าเป็นหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ ซึ่งหุ้นชนิดนี้จะออกได้ก็ต่อเมื่อ
▶️ มีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้
▶️ หุ้นได้ใช้ราคาเต็มมูลค่าแล้ว การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อต้องทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน และมีพยานอย่างน้อย 1 คนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน และจะใช้ยันบริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนการโอนลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้ว ส่วนการโอนหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือจะสมบูรณ์เพียงส่งมอบใบหุ้นให้แก่กันเท่านั้น
ใบหุ้นทุกใบต้องมีกรรมการอย่างน้อย 1 คนลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัท และระบุรายละเอียด ดังนี้
(1) ชื่อบริษัท
(2) เลขหมายหุ้นที่กล่าวถึงใบหุ้นนั้น
(3) มูลค่าหุ้นหนึ่งเป็นเงินเท่าใด
(4) ถ้าและเป็นหุ้นที่ยังไม่ได้ใช้เงินเสร็จ ให้จดลงว่าได้ใช้เงินค่าหุ้นแล้วหุ้นละเท่าใด
(5) ชื่อผุ้ถือหุ้น หรือคำแถลงว่าได้ออกใบหุ้นให้แก่ผุ้ถือ
.
🪒 บทลงโทษ
กรณีไม่จัดทำใบหุ้น มีโทษปรับบริษัท ไม่เกิน 10,000 บาท และกรรมการ ไม่เกิน 50,000 บาท
.
2️⃣ จัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น
สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นมีไว้บันทึกข้อมูลของผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้น การเข้าออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยต้องเก็บไว้ที่บริษัทเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถทำการตรวจสอบได้
สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น แสดงข้อมูลของผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้น การเข้าออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น รายละเอียดเกี่ยวกับการโอนหุ้นและการเปลี่ยนแปลงรายการต่างๆ โดยสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ต้องระบุรายการ ดังนี้
(1) ชื่อ และสำนักกับอาชีวะของผู้ถือหุ้น ข้อแถลงเรื่องหุ้นของผู้ถือหุ้นคนหนึ่งๆ แยกหุ้นออกตามเลขหมายและจำนวนเงินที่ได้ใช้แล้ว หรือที่ได้ตกลงกันให้ถือว่าเป็นอันได้ใช้แล้วในหุ้นของผู้ถือหุ้น
(2) วันเดือนปี ซึ่งได้ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้น
(3) วันเดือนปี ซึ่งขาดจากเป็นผู้ถือหุ้น
(4) เลขหมายใบหุ้นและวันที่ลงในใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือและเลขหมายของหุ้น ซึ่งได้ลงไว้ในใบหุ้นนั้นๆ
(5) วันที่ได้ขีดฆ่าใบหุ้นชนิดระบุชื่อ หรือชนิดออกให้แก่ผู้ถือ
.
🪒 บทลงโทษ
กรณีไม่จัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น มีโทษปรับบริษัท ไม่เกิน 20,000 บาทและกรรมการ ไม่เกิน 50,000 บาท
.
3️⃣ ประชุมผู้ถือหุ้น
(1) การประชุมสามัญครั้งแรก โดยกรรมการต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งแรก ภายใน 6 เดือน หลังจากบริษัทจัดตั้ง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบถึงการดำเนินงานของบริษัท
(2) การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หลังจากการประชุมสามัญครั้งแรก กรรมการต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบถึงการดำเนินงานของบริษัท โดยทั่วไปมักกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หลังจากสิ้นสุดรอบปีทางบัญชีของบริษัท เพื่อให้ที่ประชุมได้อนุมัติงบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชี การพิจารณาจ่ายเงินปันผล การแต่งตั้งกรรมการใหม่ และการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัท
(3) การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เป็นการประชุมแบบเร่งด่วน ซึ่งอาจเกิดจากคณะกรรมการเรียกประชุม หรือผู้ถือหุ้นจำนวนตั้งแต่ 1 ใน 5 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดขอให้ประชุม เช่นการประชุมเพื่อเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการ การประชุมเนื่องจากสถานะทางการเงินบริษัท
.
4️⃣ ส่งสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น
จัดส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้แก่นายทะเบียนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และไม่ช้ากว่า 14 วันนับแต่วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น
.
5️⃣ ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น
จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นทันที เมื่อบริษัทขาดทุนเกินกึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียน หรือภายใน 30 วันเมื่อผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ร้องขอให้เรียกประชุม
.
6️⃣ ผู้ตรวจสอบบัญชี
จัดให้มีผู้สอบบัญชี เพื่อตรวจสอบงบการเงิน และนำส่งงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบแล้วให้แก่ผู้ถือหุ้น เพื่ออนุมัติในการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ภายใน 4 เดือนนับแต่วันที่ปิดบัญชี และต้องเก็บงบการเงินไว้ที่บริษัท
.
7️⃣ จัดทำบัญชี
โดยจัดให้มีเอกสารต่างๆ ที่ประกอบการบันทึกบัญชี กำหนดให้มีผู้ทำบัญชี จัดทำบัญชีบริษัท เช่น บัญชีรายวัน แยกประเภท บัญชีสินค้า จัดทำงบการเงินแสดงฐานะทางการเงินของบริษัท เช่นงบกำไรขาดทุน งบดุล และงบการเงินเปรียบเทียบกับปีก่อน ให้ได้มาตรฐานทางการเงิน ทั้งนี้ปิดบัญชีครั้งแรกภายใน 12 เดือนนับแต่เริ่มทำบัญชี และปิดบัญชีทุก 12 เดือนนับแต่วันปิดบัญชีครั้งก่อนหน้า
.
8️⃣ ส่งงบการเงิน
จัดส่งงบการเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (DBD E-filing) ภายใน 1 เดือน ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติงบการเงินจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น
.
9️⃣ เก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบัญชี
จัดเก็บเอกสารบัญชีและเอกสารที่ใช้ประกอบการบันทึกบัญชีไว้ที่สำนักงานบริษัท เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
.
🔟 แจ้งรายละเอียดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบริษัท
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายการใดๆ ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ต้องจดแจ้งกับนายทะเบียน เช่น การเพิ่มทุน ลดทุน แก้ไขข้อบังคับบริษัท แก้ไขกรรมการเข้า-ออก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *