7 ภาษีซื้อต้องห้าม

ภาษีซื้อต้องห้าม

💥 7 ภาษีซื้อต้องห้าม ไม่ให้นำไปหักออกจากภาษีขาย ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (ม.82/5)
.
👉 1. ไม่มีใบกำกับภาษี
ภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการฯ ได้จ่ายให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ หากผู้ขายสินค้าไม่ได้ออกใบกำกับภาษี หรือออกใบกำกับภาษีแต่ระบุชื่อผู้ซื้อสินค้าในใบกำกับภาษีเป็นชื่อบุคคลอื่น ถือว่าผู้ซื้อสินค้าไม่มีใบกำกับภาษี แม้ข้อเท็จจริงจะจ่ายภาษีซื้อไปแล้วก็ตาม
.
👉 2. มีใบกำกับภาษีแต่ไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้
ผู้ประกอบการฯ ซื้อสินค้าหรือบริการ และได้รับใบกำกับภาษีซื้อ มีการนำภาษีซื้อนั้นไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีในเดือนที่ได้รับใบกำกับภาษีแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานได้เข้าไปตรวจ แต่ผู้ประกอบการฯ ไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีซื้อได้ เพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่น หาย ไฟไหม้ถูกทำลาย หาไม่พบ
ทางแก้!!! ต้องขอใบแทนใบกำกับภาษีจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ เพื่อนำไปใช้แทนใบกำกับภาษีที่สูญหายหรือไม่มีอยู่
.
👉 3. ใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด
ใบกำกับภาษีซื้อที่จะนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป และมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
.
👉 4. ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการฯ
ภาษีซื้อต้องเกิดจากรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะกรมสรรพากรจะตีความตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร (ซึ่งกำหนดว่ารายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล)
.
👉 5. ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน

กรณีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)ฯ ข้อ 5 ดังนี้

5.1 ค่ารับรอง หรือค่าบริการไม่ว่าจะจ่ายเพื่อการรับรอง หรือให้บริการแก่บุคคลใดๆ และไม่ว่าจะอำนวยประโยชน์แก่กิจการหรือไม่ก็ตาม เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่ามหรสพ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกีฬา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

5.2 ค่าสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการตาม (ก) และบุคคลอื่น
.
👉 6. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี
6.1 บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน (มาตรา 86/13)
6.2 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ให้ตัวแทนออกใบกำกับภาษีแทนตนตามมาตรา 86/2
6.3 ผู้ประกอบการที่ทรัพย์สินถูกนำออกขายทอดตลาด หรือขายโดยวิธีอื่นโดยบุคคลอื่นตามมาตรา 83/5
6.4 ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 83/6 (3)
6.5 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ไม่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการแต่ได้ออกใบกำกับภาษี
.
👉 7. ภาษีซื้อต้องห้ามตาม มาตรา 82/5 (6) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ เช่น
7.1 ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารไม่เกิน 10 ที่นั่ง
7.2 ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *