ภาระภาษีกับการให้ส่วนลด

ภาระภาษีกับการให้ส่วนลด

🎯 ภาระภาษีกับการให้ส่วนลด

.
ในการประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการ บางธุรกิจจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการขายเพื่อเพิ่มยอดขายและกำไร ซึ่งวิธีที่นิยมที่สุดคือการให้ส่วนลด (Discount) เพราะสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อของลูกค้าได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น นั่นเอง
.
ส่วนลดมีด้วยกันหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น
✅ส่วนลดการค้า (Trade Discount) เป็นส่วนลดที่ผู้ขายลดให้กับผู้ซื้อทันทีที่ได้มีการตกลงซื้อขายกัน โดยมักจะมีการแสดงส่วนลดไว้ใน ใบกำกับสินค้า หรือใบกำกับภาษีให้เห็นเป็นหลักฐานด้วย
.
✅ส่วนลดเงินสด(Cash Discount) เป็นส่วนลดที่ผู้ขายลดให้กับผู้ซื้อเมื่อมีการชำระหนี้ค่าสินค้าตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ เช่น 2/10, n/30 หมายถึงหากชำระเงินภายในกำหนด 10 วันจะให้ส่วนลด 2% แต่ต้องชำระภายใน 30 วัน
.
✅ ส่วนลดปริมาณ (Quantity Discount) เป็นส่วนลดที่ผู้ขายลดให้กับผู้ซื้อหากผู้ซื้อได้มีการซื้อสินค้าตามปริมาณที่กำหนดไว้
.
✅ ส่วนลดตามฤดูกาล (Seasonal Discount) เป็นส่วนลดที่ผู้ขายลดให้กับผู้ซื้อนอกเหนือจากในช่วงฤดูกาลที่สินค้าขายดี เป็นการลดให้นอกฤดูกาลเพื่อกระตุ้นให้ผู้ซื้อได้ซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก เช่น การลดราคาเครื่องปรับอากาศในช่วงฤดูหนาว
ส่วนลดในการดำเนินธุรกิจมี 2 ประเภทคือ ส่วนลดการค้า และ ส่วนลดเงินสด
.
การให้ส่วนลด ต้องคำนึงถึงภาระภาษีที่เกี่ยวข้องดังนี้
1️⃣ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
2️⃣ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
3️⃣ ภาษีเงินได้นิติบุคคล
.

🔴 ภาษีมูลค่าเพิ่มกับการให้ส่วนลด

.
ปัญหาการให้ส่วนลดสำหรับผู้ขายที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มคือจะคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดใดหากมีการให้ส่วนลดกับผู้ซื้อ หลักการคือต้องพิจารณาว่า การให้ส่วนลดดังกล่าวเป็นการให้ส่วนลดการค้า หรือ ส่วนลดเงินสด เพราะส่วนลด 2 ประเภทนี้มีวิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแตกต่างกัน
.
👉 ส่วนลดการค้า
ส่วนลดการค้า คือ เป็นส่วนลดที่มีการตกลงให้กันทันทีที่มีการตกลงซื้อขายกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดเป็นตัวเงิน หรือ การที่ลูกค้านำคูปองหรือแสตมป์ที่สะสมมาแลกเป็นส่วนลด จะถือเป็นส่วนลดการค้า ทั้งสิ้น
.
วิธีการออกใบกำกับภาษีกรณีให้ส่วนลดการค้า
(1) ไม่ต้องนำมูลค่าส่วนลดมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
(2) ต้องแสดงมูลค่าส่วนลดในใบกำกับภาษีให้เห็นเป็นหลักฐาน มิฉะนั้นอาจเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินมูลค่าสินค้าหรือบริการตามาตรา 6 ทวิ (4) ถือว่ากิจการขายสินค้าในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันควร
.
📌ยกตัวอย่างเช่น
ขายสินค้า                      200,000 บาท
หัก ส่วนลด                      10,000 บาท
ยอดหลังหักส่วนลด       190 ,000 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%           13,300 บาท
ยอดรับชำระ                  203,300 บาท
👉 ส่วนลดเงินสด
ส่วนลดเงินสด คือส่วนลดที่ผู้ขายลดให้ภายหลังจากมีการซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว เช่นผู้ขายตกลงให้ส่วนลดหากผู้ซื้อมีการชำระราคาภายในกำหนดเวลาที่กำหนด เช่นเงื่อนไขการชำระเงิน 2/10,/30 หมายถึง หากผู้ซื้อชำระเงินภายใน 10 วัน จะได้รับส่วนลด 2% แต่ต้องชำระภายใน 30 วัน ซึ่งส่วนลดเงินสดเป็นส่วนลดที่ให้หลังจากมีการออกใบกำกับภาษีและมีการส่งมอบสินค้ากันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ออกไปแล้ว
.
📌ยกตัวอย่างเช่น
ขายสินค้า                      200,000 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%            14,000 บาท
ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม    214,000 บาท
หัก: ส่วนลด                       10,000 บาท
ยอดรับชำระ                     204,000 บาท
.

🔴 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายกับการให้ส่วนลด

.
ปัญหาอย่างหนึ่งในการให้ส่วนลดของผู้ขายที่ต้องพึงระวังอีกประการหนึ่งคือเรื่องการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เนื่องจากตามประมวลรัษฎากรคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ข้อ 12/2 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายรางวัล ส่วนลดหรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขายให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น
(1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 3.0
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม ให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตราร้อยละ 3.0
เว้นแต่ เป็นการให้ส่วนลด เนื่องจากการส่งเสริมการขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้บริโภคหรือเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าหรือบริการไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเองโดยตรง โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ
.
จากเงื่อนไขดังกล่าว ผู้ขายที่มีการให้ส่วนลดแก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเนื่องจากการส่งเสริมการขายจะต้องแยกผู้ซื้อหรือผู้รับบริการออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ
.
1. ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยตรง
กรณีเป็นผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเพื่อนำไปสินค้าหรือบริการไปใช้เอง โดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปขายต่อ จะได้รับยกเว้นไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทั้งส่วนลดที่ลดให้ทันทีขณะตกลงซื้อขาย (ส่วนลดการค้า) หรือ ส่วนลดที่ให้ภายหลังเพื่อกระตุ้นให้ผู้ซื้อชำระค่าสินค้าเร็วขึ้น (ส่วนลดเงินสด)
.
2. ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเป็นผู้นำไปจำหน่ายต่อ
กรณีเป็นผู้ซื้อหรือผู้รับบริการที่มีวัตถุประสงค์ในการนำสินค้าไปขายต่อหรือให้บริการต่อ เช่นเป็นตัวแทนจำหน่าย ในการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย อยู่ในข่ายต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
.
ผู้จ่ายเงิน เป็น นิติบุคคล
ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้รับเงินหรือส่วนลด) เป็น นิติบุคคล หัก 3%
ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้รับเงินหรือส่วนลด) เป็น บุคคลธรรมดา หัก 3%
.
ยกเว้นในกรณีดังต่อไปนี้ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
(1) เป็นส่วนลดที่ผู้ขายลดให้ทันทันที่ตกลงซื้อขาย หรือส่วนลดการค้า
(2) เป็นส่วนลดที่ผู้ขายลดให้ภายหลังหรือส่วนลดเงินลด หากผู้ขายมีการระบุเงื่อนไขส่วนลดเงินสดไว้บนใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ หรือใบกำกับภาษีให้ชัดเจน ซึ่งต้องเป็นการให้ส่วนลดที่เป็นปกติตามประเพณีทางการค้า
.

🔴 ภาษีเงินได้นิติบุคคลกับการให้ส่วนลด

.
👉 ส่วนลดการค้า ผู้ขายจะถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิจากยอดขายหลังหักส่วนลดแล้ว
📌ยกตัวอย่างเช่น
ขายสินค้า 200,000 บาท
หัก: ส่วนลด 10,000 บาท
รวมเงิน 190,000 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% 13,300 บาท
ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 203,300 บาท
.
✍️ วิธีการบันทึกบัญชี
เมื่อมีการขายสินค้า
Dr. ลูกหนี้การค้า 203,300
     Cr. ขายสินค้า 190,000
ภาษีขาย 13,300
เมื่อรับชำระเงิน
Dr. เงินสด 203,300
     Cr. ลูกหนี้การค้า 203,300
.
👉 ส่วนลดเงินสด ผู้ขายจะต้องถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิจากยอดขายเต็มจำนวน และหากภายหลังมีการให้ส่วนลดกับผู้ซื้อในภายหลัง ผู้ขายสามารถนำส่วนลดมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
📌 ยกตัวอย่างเช่น
ขายสินค้า 200,000 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% 14,000 บาท
ราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 214,000 บาท
หัก: ส่วนลด 10,000 บาท
ยอดรับชำระ 204,000 บาท
.
✍️ วิธีการบันทึกบัญชี
เมื่อมีการขายสินค้า
Dr. ลูกหนี้การค้า 214,000
     Cr. ขายสินค้า 200,000
ภาษีขาย 14,000
เมื่อลูกค้าชำระเงินโดยได้ส่วนลด
Dr. เงินสด 204,000
ส่วนลดจ่าย 10,000
     Cr. ลูกหนี้การค้า 214,000
.
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ในการให้ส่วนลดมีประเด็นข้อกฎหมายหลาย ๆ กรณีค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจภาษีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้ส่วนลดให้ชัดเจน เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้านะคะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *