เลือกประกอบธุรกิจแบบไหนดี “บุคคลธรรมดา VS นิติบุคคล”

บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล

เลือกประกอบธุรกิจแบบไหนดี  “บุคคลธรรมดา VS นิติบุคคล”

     ผู้ประกอบการหลายท่าน เมื่อดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดามาได้สักระยะหนึ่ง ธุรกิจเติบโตขึ้น มักจะประสบปัญหาในการตัดสินใจ ว่าจะยังคงดำเนินธุรกิจในรูปแบบ “บุคคลธรรมดา” ต่อไป หรือจะเลือกจดเป็น “นิติบุคคล” ดี  จะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง  แอดมินขอสรุปมาให้เพื่อประกอบการตัดสินใจ ค่ะ

.การประกอบธุรกิจรูปแบบบุคคลธรรมดา

เป็นการประกอบธุรกิจแบบเจ้าของคนเดียวเป็นการลงทุนคนเดียว  

    ข้อดี

  1. จัดตั้งง่าย บริการงานคล่องตัว ตัดสินใจเองเพียงคนเดียว
  2. ใช้เงินลงทุนน้อย ได้รับผลกำไรเพียงคนเดียว
  3. มีข้อกฎหมายในการควบคุมน้อย
  4. มีค่าใช้จ่ายในการบริการกิจการน้อย
  5. เลิกกิจการได้ง่าย

   ข้อเสีย

  1. มีความเสี่ยงสูง เจ้าของต้องรับภาระในหนี้สินของกิจการไว้ทั้งหมด
  2. ความน่าเชื่อถือจะน้อย ขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้ยากกว่า
  3. เสียภาษีตามอัตราก้าวหน้า ซึ่งมีอัตราสูงสุดถึง 35%
  4. แม้กิจการขาดทุนก็ยังคงต้องเสียภาษี
  5. กรณีขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถระดมเงินทุนได้ ต้องใช้ทุนจากเจ้าของคนเดียว

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

บุคคลธรรมดา ตามกฎหมายกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ

  1. ภาษีครึ่งปี โดยรวมรายได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายใน 30 กันยายน ของทุกปี โดยใช้แบบภาษี ภงด.94
  2. ภาษีประจำปี โดยรวมรายได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายใน 31 มีนาคม ของปีถัดไป  โดยใช้แบบภาษี ภงด.90

.      วิธีคำนวณภาษี

วิธีที่ 1 ภาษีที่ต้องชำระ = รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน x อัตราภาษี

             หากรายได้เกิน 120,000 ต่อปี ต้องคำนวณภาษีวิธีที่ 2 เพื่อเปรียบเทียบกับวิธีที่ 1

วิธีที่ 2 ภาษีที่ต้องชำระ = รายได้ x  0.5%  ถ้าน้อยกว่า 5,000 ให้เสียภาษีจากวิธีที่ 1

ถ้ามากกว่า 5,000 บาท ให้เปรียบเทียบกับวิธีที่ 1 ให้เสียภาษีจากจำนวนที่มากกว่า

.          การหักค่าใช้จ่าย  สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี

            วิธีที่ 1 หักเหมาร้อยละ 60 (ไม่ต้องเก็บเอกสารรายจ่าย)

            วิธีที่ 2 หักตามจริง (ต้องเก็บเอกสารเพื่อพิสูจน์ต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร)

.

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

          บุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายได้เกิน

.

การประกอบธุรกิจรูปแบบนิติบุคคล

    เป็นการประกอบธุรกิจแบบร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในรูปบริษัทจำกัด หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด  จะแตกต่างกันชัดเจนในเรื่องของผู้ร่วมลงทุน คือบริษัทจะมีผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 3 คน ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัด มีผู้ร่วมลงทุนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป  ส่วนเรื่องภาระหน้าที่ในการจัดทำบัญชีและภาษีก็ไม่แตกต่างกันมากนัก

   ข้อดี

  1. การบริหารงานแบบมืออาชีพ อย่างเป็นระบบ
  2. มีความน่าเชื่อถือ สามารถขอสินเชื่อสถาบันการเงินได้ง่าย
  3. อัตราภาษีเงินได้จะต่ำกว่าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

   ข้อเสีย

  1. มีขั้นตอนการจัดตั้งยากกว่าบุคคลธรรมดา
  2. การตัดสินใจอาจใช้เวลานาน เพราะต้องผ่านที่ประชุม
  3. การบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการ อาจไม่คล่องตัวในบางสถานการณ์
  4. ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานสูง
  5. ต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชี และ ผู้สอบบัญชีรับรองงบการเงิน

.

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

คำนวณภาษีจากกำไรสุทธิ  โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีปีละ 2 ครั้ง

  • ภงด.51  คำนวรณภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี ยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันสิ้น 6 เดือนแรก
  • ภงด.50 คำนวณภาษีจากกำไรสุทธิประจำปี ยื่นแบบภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นรอบบัญชี

       วิธีคำนวณภาษี    

              ภาษีที่ต้องชำระ = กำไรสุทธิ x อัตราภาษี (สูงสุดไม่เกิน 20%)

       การหักค่าใช้จ่าย  หักค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น ต้องมีเอกสารประกอบการทำบัญชี

.

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

     นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายได้เกิน

.          ปัจจัยในเลือกรูปแบบธุรกิจ

    ในการเลือกรูปแบบธุรกิจ นอกจากข้อดี ข้อด้อยของรูปแบบธุรกิจข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาประกอบด้วย ดังนี้

  1. กรณีมีรายได้จำนวนมาก อาจทำให้เสียภาษีมาก ควรคำนวณภาษีเปรียบเทียบทั้ง 2 รูปแบบ
  2. กลุ่มคู่ค้าเป็นใคร หากส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคลก็ควรเลือกจดเป็นนิติบุคคล เพราะคู่ค้าย่อมต้องการเอกสารที่สมบูรณ์แบบ
  3. หากมีผู้ร่วมลงทุนด้วย ควรเลือกจดเป็นนิติบุคคล เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่นการบริหารงาน การแบ่งผลกำไร
  4. หากธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ควรจดนิติบุคคล เพื่อใช้ประโยชน์จากการขอสินเชื่อในอนาคต
  5. ถ้าไม่มีเอกสารประกอบการจ่าย ยังไม่ควรจดนิติบุคคล เพราะบุคคลธรรมดาสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้
  6. หากมีเงินลงทุนเงินทุนเริ่มต้นไม่มาก และไม่มีผู้มาร่วมบริหารกิจการ การเลือกรูปแบบ “บุคคลธรรมดา” อาจเป็นรูปแบบที่สะดวกกว่า เพราะมีค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนต่ำกว่านิติบุคคล และไม่มีข้อกำหนดให้ส่งรายงานบัญชีที่มีผู้ตรวจสอบบัญชีรับรอง จึงมีภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต่ำ

.

    ข้อสงสัยที่ว่า หากเลือกจดเป็นนิติบุคคลแล้ว ควรจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไปด้วยเลยจะดีหรือไม่ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเพื่อจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะมีภาระหน้าที่เกิดขึ้น เรื่องการนำส่งภาษีและการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทุก ๆ เดือน แม้จะไม่มีรายการค้าเกิดขึ้นก็ตาม ปัจจัยส่วนหนึ่งในการพิจารณาที่ควรจดภาษีมูลค่าเพิ่มไปด้วยเลย คือ

  1. ประเมินรายได้ของกิจการ หากธุรกิจจะมีรายได้เกิน 1.8 ล้าน ในเวลาอันใกล้ ควรจด VAT เลย
  2. บิลรายจ่ายของกิจการ ในกรณีเริ่มประกอบกิจการจะมีใบกำกับภาษีซื้อจำนวนมาก ควรจด VAT เลย เนื่องจากจะได้ใช้สิทธิเครดิตภาษีซื้อไปใช้ในอนาคตได้
  3. ประเมินคู่ค้าของกิจการ หากคู่ค้าส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคล ควรจด VAT เลย เพราะคู่ค้าย่อมต้องการใบกำกับภาษีไปใช้ประโยชน์ทางภาษีเช่นกัน

.           เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พอได้แนวทางในการตัดสินใจกันพอสมควรแล้วนะคะ ตัดสินใจเลือกรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมกับกิจการของตนเอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและประหยัดภาษีกันนะคะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *