จุดความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Point)

จุดความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Point)

จุดความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Point)

 คือจุดที่ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มได้เกิดขึ้นแล้ว  โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ 3 ประการดังนี้ คือ

          1.ออกใบกำกับภาษี เมื่อมีการขายสินค้าหรือให้บริการ

          2.จัดทำรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม

          3.ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30)

          แต่ปัญหาของการออกใบกำกับภาษีที่พบบ่อย คือ การออกใบกำกับภาษี ไม่ตรงกับจุดความรับผิดทางภาษี (Tax Point) โดยที่ลักษณะของการประกอบกิจการที่ต่างกัน จุดความรับผิดทางภาษีก็จะแตกต่างกันไปด้วย  ซึ่งสามารถจำแนกจุดความรับผิดภาษี (Tax Point) ตามลักษณะของการประกอบกิจการได้ ได้ดังนี้

1. ธุรกิจขายสินค้า

          🍀 ขายสินค้าทั่วไป  จุดความรับผิด (Tax Point)  เกิดขึ้นเมื่อมีการส่งสินค้า ยกเว้นการกระทำดังต่อไปนี้จะเกิดขึ้นก่อน ถือว่าจุดความรับผิดเกิดขึ้นแล้ว คือ

  • มีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า
  • ได้รับชำระค่าสินค้า
  • มีการออกใบกำกับภาษี

             🍀 การขายสินค้าตามสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาขายผ่อนชำร  โดยกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อซึ่งผู้ซื้อได้มีการรับมอบสินค้าไปแล้ว  จุดความรับผิดภาษี (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระตามงวด แม้ยังไม่ได้รับค่างวดก็ตาม ยกเว้นการกระทำดังต่อไปนี้จะเกิดขึ้นก่อน

  • ได้รับชำระค่าสินค้า
  • มีการออกใบกำกับภาษี

        🍀 การขายสินค้าโดยมีการตั้งตัวแทนเพื่อขาย โดยตัวแทนต้องได้รับการแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จุดความรับผิดทางภาษี (Tax Point) เกิดขึ้น เมื่อตัวแทนขายได้ส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อ เว้นแต่จะมีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน

  • ตัวแทนได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าให้ผู้ซื้อ
  • ตัวแทนได้รับชำระค่าสินค้า
  • ตัวแทนหรือคนอื่นได้นำสินค้าไปใช้
  • มีการออกใบกำกับภาษี

         🍀การขายสินค้าโดยการส่งออก

            การส่งออกสินค้า จุดความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อ

  • มีการชำระอากรขาออก
  • มีการวางหลักประกันอากรขาออก
  • จัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก

                     การส่งออกสินค้า กรณีนำสินค้าเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก  ความรับผิด (Tax Point)  เกิดขึ้นพร้อมความรับผิดตามกฎหมายของกรมศุลกากร

           🍀 การขายสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรา 0 และภายหลังมีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าว ผู้รับโอนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจุดความรับผิดภาษี (Tax Point)  เกิดเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้า

2.ธุรกิจให้บริการ

          🍀 การให้บริการทั่วไป  จุดความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าบริการ เว้นแต่การการกระทำต่อไปนี้จะเกิดขึ้นก่อน ถือว่าความรับผิดได้เกิดขึ้นแล้ว

  • ได้ใช้บริการนั้นด้วยตนเองหรือโดยคนอื่น
  • มีการออกใบกำกับภาษี

         🍀 การให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของการบริการนั้นๆ  จุดความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระค่าบริการตามส่วนนั้น ๆ เมื่อการให้บริการตามส่วนนั้นเสร็จสิ้น  เว้นแต่การกระทำดังต่อไปนี้จะเกิดขึ้นก่อน

  • ได้ใช้บริการโดยตนเองหรือคนอื่น
  • มีออกใบกำกับภาษี

          🍀 การให้บริการที่ทำในต่างประเทศ แต่ได้มีการใช้บริการในประเทศไทย  ความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อมีการชำระค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วน แล้วแต่กรณี

          🍀 การให้บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในบริการนั้น ผู้รับโอนบริการมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ

          🍀 กรณีขายสินค้าหรือให้บริการ ได้รับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยเช็ค โดยได้รับมอบเช็คลงวันที่ที่ผ่านมาแล้ว ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและใบรับตามวันที่ลงในเช็คนั้น  เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ ให้จัดทำใบกำกับภาษีและใบรับในวันที่ได้รับมอบเช็คนั้น

          – กรณีรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่นเป็นผู้ออกเช็ค

           กรณีผู้ออกเช็คเป็นบุคคลธรรมดา  บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งได้ออกเอกสารรับรองว่า ได้ส่งมอบเช็คในวัน เดือน ปี ใด และได้ส่งมอบเอกสารนั้นมาในวันเดียวกับที่ส่งมอบเช็ค และให้ผู้ประกอบการต้องมีเอกสารดังกล่าวพร้อมให้เจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจสอบได้ทันที

3.การนำเข้าสินค้า

           🍀 การนำเข้าสินค้าทั่วไป  ความรับผิดภาษี (Tax Point) เกิดเมื่อ

  • มีการชำระอากรขาเข้า
  • มีการวางหลักประกันอากรขาเข้า
  • มีการจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาเข้า

เว้นแต่ไม่ต้องเสียอากรขาเข้า ให้ถือว่าความรับผิดภาษี (Tax Point) เกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าของกรมศุลกากร

          🍀 การนำเข้าสินค้าในราชอาณาจักร  เข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก แล้วนำสินค้าดังกล่าวออกนอกเขตฯ โดยมิใช้เพื่อการส่งออก  ให้ความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นในวันที่ได้มีการนำสินค้าออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก

            🍀 ารนำเข้ากรณีของตกค้างในกรมศุลกากร  ให้ความรับผิด (Tax Point)  เกิดขึ้นเมื่อทางราชการมีการ ได้นำมาขายทอดตลาด หรือโดยวิธีอื่น เพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าขนย้าย

            🍀 การนำเข้าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรของกรมศุลกากร  แต่หากภายหลังสินค้าดักล่าวต้องเสียอากรของกรมศุลกากร  ผู้รับโอนต้องรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย โดยให้รับผิดชอบไปพร้อม ๆ กับความรับผิด (Tax Point) ของกรมศุลกากร

4.การขายสินค้าหรือให้บริการอื่น

          🍀 การขายสินค้าไม่มีรูปร่าง เช่น สิทธิบัตร  กู๊ดวิลส์ หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระราคาค่าสินค้า  เว้นแต่จะกระทำกรณีดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน ให้จุดความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำการนั้น

  • มีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า
  • มีการออกใบกำกับภาษี

          🍀 การขายกระแสไฟฟ้า  น้ำประปา  หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน  ให้จุดความรับผิดภาษี (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อได้ชำระค่าสินค้า  เว้นแต่จะมีการออกใบกำกับภาษีขึ้นก่อนได้รับชำระค่าสินค้า ก็ให้จุดความรับผิด (Tax Point)  เกิดขึ้นเมื่อได้ออกใบกำกับภาษี

            🍀 การขายสินค้าหรือให้บริการด้วยเครื่องอัตโนมัติ  โดยการหยอดเหรียญ หรือบัตร หรือการกระทำในลักษณะเดียวกัน  ให้จุดความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อได้มีการนำเงิน เหรียญ หรือสิ่งอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันออกจากเครื่อง

          🍀 การขายสินค้าโดยการชำระด้วยบัตรเครดิต  ให้ความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ได้เกิดขึ้นก่อน ให้จุดความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำนั้น ๆ

  • มีการโอนกรรมสิทธ์สินค้า
  • มีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต
  • มีการออกใบกำกับภาษี

            🍀 การขายสินค้าตามสัญญาจะขายสินค้า ให้ความรับผิด (Tax Point) เกิดเมื่อมีการส่งมอบสินค้า  เว้นแต่มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อน ให้จุดความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำนั้น ๆ

  • มีการโอนกรรสิทธิ์สินค้า
  • ได้รับชำระราคาสินค้า
  • มีการออกใบกำกับภาษี

          🍀 กรณีนำสินค้าไปใช้ส่วนตัวโดยตนเองหรือคนอื่น ให้จุดความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อผู้ประกอบการมีการนำสินค้าไปใช้ หรือส่งมอบสินค้าให้ผู้อื่นนำไปใช้

          🍀 สินค้าขาดจากรายงานสินค้าคงเหลือและวัตถุดิบ   ให้จุดความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อตรวจพบ

        🍀 กรณีเลิกประกอบกิจการ และกิจการมีสินค้าคงเหลือหรือทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันเลิก ให้จุดความรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิกประกอบกิจการ  เว้นแต่จะได้รับอนุญาให้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ต่อได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ

          🍀 กรณีมีคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และกิจการมีสินค้าหรือทรัพย์สินที่มีไว้ใช้ในกิจการ ให้จุดรับผิด (Tax Point) เกิดขึ้นเมื่อได้รับแจ้งคำสั่งถอน หรือได้รับแจ้งเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่จะได้รับอนุญาให้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ต่อได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ

😊

ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องออกใบกับภาษีให้ตรงกับจุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Point) ด้วยนะคะ เพราะหากออกไม่ตรงกับจุดความรับผิดจะเกิดปัญหาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะหากเป็นการออกใบกำกับภาษีไม่ตรงเดือนกับจุดความรับผิดเป็นผลให้ยื่นภาษีขายของเดือนไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *