ภาษี e-Service

ภาษี e-Service

กฎหมายภาษี e-Service (หรือที่เรียกว่ากฎหมาย e-Payment) คืออะไร ขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
.
ในปี 2563 ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะอายุระหว่าง 16-64 ปี มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น มากกว่า 50% ดูวิดีโอ ฟังเพลง ฟังวิทยุออนไลน์ เล่นเกมส์ เป็นผลให้การใช้บริการออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดค่าบริการ ค่าโฆษณา จากการให้บริการเหล่านี้เป็นจำนวนมาก
.
ปัจจุบันผู้ประกอบการต่างประเทศ เช่น facebook Google Line Netflix TikTok Youtube และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต ที่มีรายได้จากคนไทย แต่กรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีจากผู้ประกอบการเหล่านี้ได้เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40(2) – 40(6) เท่านั้น จากการที่บริษัทในประเทศไทยมีการจ่ายเงินได้เหล่านี้ไปให้บริษัทต่างประเทศ และมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เพื่อนำส่งกรมสรรพากรเท่านั้น แต่หากเป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทยก็จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งถือว่าทางกรมสรรพากรจะเก็บภาษีจากบริษัทต่างประเทศที่มีรายได้จากประเทศไทยกลุ่มนี้ได้น้อยมาก
.
ส่วนรายได้จากให้บริการอิเล็คทรอนิคส์ เช่น การให้บริการดาวน์โหลด เกมส์ เพลง ภาพยนตร์ สติ๊กเกอร์ ถือเป็นเงินได้จากการพาณิชย์ มาตรา 40( 8 ) เป็นเงินได้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหากเป็นบริษัทในประเทศไทยให้บริการเหล่านี้หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากเป็นบริษัทของต่างประเทศยังไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น ผู้ประกอบการไทยให้บริการโฆษณา 100 บาท เรียกเก็บเงิน 107 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม7 บาท) แต่ผู้ประกอบการต่างประเทศให้บริการเหมือนกันแต่เรียกเก็บค่าบริการเพียง 100 บาทเพราะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบการไทย กับ ผู้ประกอบการต่างประเทศ และมีการแข่งกันด้านราคากันเกิดขึ้น จึงได้มีการออกกฎหมาย e-Service เพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทต่างประเทศกลุ่มนี้นี่เอง
.
หลักการของกฎหมาย e-Service คือการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็คทรอนิคส์การกับคนไทย เช่น facebook Google Line Netflix TikTok Youtube และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการดาวน์โหลด เกมส์ เพลง ภาพยนต์ สติ๊กเกอร์ หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับกรมสรรพากร
.
📌 ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน เช่น เมื่อ Facebook เรียกเก็บค่าโฆษณาจากผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยจะแบ่งผู้ประกอบการได้ 2 กลุ่มคือ
.
1️⃣ ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เมื่อมีการจ่ายค่าบริการจะไม่ถูกเรียกเก็บ VAT 7% โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะต้องนำส่ง VAT 7% เอง ด้วย แบบ ภ.พ.36 โดยที่ผู้ประกอบการจะสามารถนำภาษีซื้อที่เสียไป มาหักออกจากภาษีขายได้ ซึ่งหลังกฎหมายบังคับใช้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ก็ยังคงปฏิบัติเช่นเดิม ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ
.
2️⃣ กลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (Non VAT) กลุ่มนี้เมื่อมีการจ่ายค่าบริการ,ค่าโฆษณาให้ Facebook จะถูกเรียกเก็บ VAT 7% เพิ่ม
จริง ๆ แล้วปัจจุบันกลุ่มนี้ก็ต้องยื่นเสีย VAT 7% ด้วย ภ.พ.36 เช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่เนื่องจากไม่ทราบกฎหมายจึงไม่ได้นำส่งกัน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากส่วนนี้ไปมาก
.
😥 ผลกระทบของกฎหมายภาษี e-Service
✅ ผู้ประกอบการต่างประเทศต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากร
✅ ผู้ปริโภคจะถูกผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ได้ (คือใช้บริการ 100 จะถูกบริษัทต่างประเทศเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7 บาท รวมเป็น 107 บาทนั่นเอง) เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อม ที่ผู้ประกอบการสามารถผลักภาระให้กับผู้บริโภคได้
.
💰 โดยสรุปคือ นโยบายของ Facebook เมื่อกฎหมาย e-Service มีผลบังคับใช้เริ่ม 1 กันยายน 64 เป็นต้นไป ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (Non VAT) จะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม 7% ส่วนผู้ใช้บริการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะไม่ได้รับผลกระทบ โดยผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ยังคงต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเอง เหมือนเช่นเดิม ซึ่งคิดว่าผู้ให้บริการต่างประเทศอื่น ๆ คงเลือกใช้นโยบายเดียวกับ Facebook ที่จะเรียกเก็บ VAT เพิ่มจากผู้บริโภค นั่นเอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *