ภาษีย้อนหลัง

ภาษีย้อนหลัง

🎯 ภาษีย้อนหลัง
.
วันนี้แอดอยากนำเสนอเรื่องภาษีย้อนหลัง เนื่องจากแอดได้รับข้อความมาปรึกษาเกี่ยวกับกรณีแบบนี้บ่อย ๆ รู้สึกเห็นใจเพราะผู้ประกอบการบางท่าน ไม่มีความรู้เรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเลย จึงไม่ได้มีการวางแผน หรือเสียภาษีให้ถูกต้อง
.
ขอนำเสนอเรื่องนี้ให้ผู้ประกอบการ ผู้ค้าขายทั้งขายออนไลน์ และขายหน้าร้าน มาศึกษากันหน่อยนะคะ ทำธุรกิจไม่ว่าจะในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม สิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกเรื่องคือเรื่องภาษี ถ้าไม่อยากให้กำไรที่หามาได้ต้องนำไปเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่มจนหมด หรือเมื่อทำธุรกิจอาจขอคำปรึกษาด้านภาษีจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้วางแผนภาษีกันก่อนนะคะ
.
📌 คำถามที่มักจะเจอบ่อย ๆ
👉 โดนภาษีย้อนหลังจะทำอย่างไรดี
👉ทำไมโดนภาษีย้อนหลังจึงเสียเงินเป็นล้าน
👉จะมีวิธีป้องกันไม่ให้โดนภาษีย้อนหลังอย่างไร
.
ไปหาคำตอบกันค่ะ
👇
ก่อนอื่นไปรู้จักหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีของบ้านเรา มี 3 หน่วยงานหลัก ๆ ด้วยกัน
🏢 กรมศุลกากร มีหน้าที่จัดเก็บอากรขาเข้า ขาออก ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
🏢 กรมสรรพสามิต มีหน้าที่จัดเก็บภาษี สุรา ยาสูบ ไพ่ น้ำหอม น้ำมัน
🏢 กรมสรรพากร เป็นหน่วยจัดเก็บภาษีที่ใหญ่ที่สุด มีหน้าที่จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์
.
ขอไปดูภาษีย้อนหลังของกรมสรรพากรนะคะ เพราะเบี้ยปรับไม่น้อยเลย
.
กรมสรรพาการรู้ข้อมูลได้อย่างไรบ้าง
✅ ข้อมูลในระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกนำส่งไม่ตรงกับที่ยื่นภาษี
✅ ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งมีรายได้เกิน 1.8 ล้าน แต่ไม่ได้จดVAT
✅ เก็บข้อมูลจากการโฆษณาขายทางอินเทอร์เน็ต
✅ เจ้าหน้าที่สุ่มซื้อ แล้วเอาชื่อไปตรวจสอบเสียภาษีหรือไม่
✅ ธนาคารส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากให้กรมสรรพากร
✅ ข้อมูลจาก Big Data ของกรมสรรพากร
.
สาเหตุที่บุคคลมักพลาดและโดนภาษีย้อนหลัง
❎ ขาดความรู้เรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
❎ ไม่ทำบัญชีรับ-จ่าย จึงไม่ทราบยอดรายรับ และรายจ่าย ทำให้มียอดรายรับเกิน 1.8 ล้าน โดยไม่รู้ตัว
❎ รายได้เกิน 1.8 ล้าน แล้วไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำถูกเบี้ยปรับ เงินเพิ่มจำนวนมาก
❎ ละเลยไม่ยื่นภาษีให้ถูกต้อง คิดว่ากรมสรรพากรคงไม่รู้
❎ ผู้ประกอบการเองทราบดี แต่เจตนาหลีกเลี่ยงไม่ยื่นภาษีให้ถูกต้อง
❎ สรรพากรเปิดให้มีการแจ้งเบาะแสแหล่งหลบเลี่ยงภาษี
.
📌 เมื่อรายได้เกิน 1.8 ล้านแล้วไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อถูกตรวจพบ หากที่เป็นนิติบุคคลมักไม่เกิดปัญหานี้ เนื่องจากมีการจัดทำบัญชีและยื่นภาษีเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ที่น่าห่วงคือบุคคลธรรมดาที่อาจจะไม่รู้เรื่องภาษี ว่าจะต้องยื่นภาษีอย่างไร ต้องยื่นภาษีเมื่อไร สำหรับบุคลลธรรมดาจะต้องเสียภาษีอะไรบ้าง
.
✅ ภาษีเงินได้ = รายได้-ค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อน x อัตราภาษีก้าวหน้า
ค่าปรับ = ค่าปรับอาญา 200 บาท
เงินเพิ่ม = ร้อยละ 18 ต่อปีจนกว่าจะชำระภาษีครบ
.
✅ ภาษีมูลค่าเพิ่ม = รายได้ x 7%
เบี้ยปรับ = 2 เท่าของจำนวนเงินภาษี
เงินเพิ่ม = ร้อยละ 18 ต่อปี จนกว่าจะชำระภาษีครบ
.
📝 ตัวอย่างการคำนวณภาษี
📌 สมมุติ ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง 2 ปี โดยปีแรกมีรายได้ 4 ล้านบาท ปีที่ 2 รายได้ 6 ล้านบาท รวมรายได้ 2 ปี 10 ล้านบาท ซึ่งหากเราไม่สามารถแยกยอดเงินเข้าที่ไม่ใช่รายได้ออกได้ สรรพากรจะถือว่ามีรายได้ทั้งหมด 10 ล้าน
.
✍️ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ปีที่ 1
✅ เงินได้สุทธิ (4,000,000- 2,400,000 – 30,000) = 1,570,000
จำนวนภาษีตามอัตราก้าวหน้า = 257,500 บาท
✅ค่าปรับอาญา 200 บาท
✅ เงินเพิ่มร้อยละ 18 ต่อปี หากยังไม่ชำระภาษี
.
ปีที่ 2
✅ เงินได้สุทธิ (6,000,000- 3,600,000 – 30,000) = 2,370,000
จำนวนภาษีตามอัตราก้าวหน้า = 476,000 บาท
✅ ค่าปรับอาญา 200 บาท
✅ เงินเพิ่มร้อยละ 18 ต่อปี หากยังไม่ชำระภาษี
😳 รวมภาษีเงินได้ ทั้ง 2 ปี = 733,500 บาท
.
✍️ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ปีที่ 1และปีที่ 2
✅ ภาษีขาย 8,200,000 x 7% = 574,000
✅ เบี้ยปรับ 2 เท่า 574,000 x 2 = 1,148,000
✅ เงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หากยังไม่ชำระ
😳 รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 ปี = 1,722,000 บาท
.
📌 รวมภาษีทั้ง 2 ประเภท = 733,500 +1,722,000.00 = 2,455,500 บาท
.
✅ กรณีเบี้ยปรับภาษี หากไม่ได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ลองเจรจากับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ค่ะ เจ้าหน้าที่พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเสียภาษีอย่างถูกต้องอยู่แล้วค่ะ
.
✅ หากชำระภาษีไม่ครบต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 18 ต่อปี
.
⚖️ สิ่งที่ต้องทำเมื่อโดนภาษีย้อนหลัง
1️⃣ ทำใจและยอมรับ เตรียมข้อมูลและเข้าพบสรรพากรเพื่อเจรจา
2️⃣ ศึกษาโครงสร้างภาษีให้เข้าใจ หรือ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาษี
3️⃣ คัด Statement ย้อนหลังตามที่สรรพากรขอตรวจ แยกรายการที่ไม่ใช่รายได้ออก พร้อมหลักฐานเท่าที่หาได้ เช่น พ่อ แม่ โอนให้ , ลูกหนี้โอนคืน
4️⃣ ทบทวนข้อมูลในการทำธุรกิจ เมื่อทางสรรพากรสงสัยประเด็นใด เพื่อชี้แจงได้
5️⃣ เข้าพบเจ้าหน้าที่ และส่งมอบเอกสารเท่าที่เจ้าหน้าที่ขอ
6️⃣ ภาษีสามารถขอผ่อนชำระได้ 3 เดือน โดยไม่เสียเงินเพิ่ม
7️⃣ กรณียอดภาษีจำนวนมาก ผ่อน 3 เดือนไม่ไหว สรรพการอาจต้องให้ใช้หลักประกัน
.
📍 ข้อแนะนำ
จากตัวอย่าง จะเห็นว่าเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจะแพงมาก ดังนั้นผู้ประกอบการทั้งหลายต้องระวังและให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก ๆ สรรพากรมีวิธีตรวจสอบข้อมุลหลากหลายวิธี และสรรพากรมีอำนาจมากมาย ไม่ว่าจะสามารถคัดข้อมูลบัญชีเราได้ อายัดเงินในบัญชีเราได้ ดังนั้นวางแผนและเสียภาษีให้ถูกต้อง มิฉะนั้นกำไรที่หามาได้ อาจต้องนำมาชำระภาษีทั้งหมดก็เป็นได้
.
🍀 ศึกษาเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจและเสียภาษีให้ถูกต้อง
🍀 ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
🍀 แยกบัญชระหว่างธุรกิจ กับ ส่วนตัวออกจากกัน เพื่อให้ง่ายต่อการทำบัญชี
🍀 วางแผนการใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
🍀 รายได้เกิน 1.8 ล้าน ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียเบี้ยปรับ
🍀 หากจดภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วต้องขายสินค้าราคาแพงขึ้น ใช้เทคนิคทางการตลาดมาใช้ในการแข่งขัน
🍀 ถ้าประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาแล้วเสียภาษีมาก ให้พิจารณารูปแบบธุรกิจแบบนิติบุคคล
.
😀 เป็นอย่างไรกันบ้างคะ อยากให้ผู้ประกอบการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องน้า ไม่อยากเห็นผู้ประกอบการที่ต้องเสียเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มเลย มันหนักจริง ๆ ค่ะ
.
👍 คราวหน้าแอดมินจะนำเสนอเรื่องจะประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ดี คอยติดตามกันน้า กดติดตามเพื่อจะไม่พลาดสาระความรู้ดี ๆ ค่า
.
❗ ขอเพิ่มเติมกรณีอำนาจตรวจสอบภาษีย้อนหลังของกรมสรรพากรนะคะ พอดีมีคนถามเข้าเยอะค่ะ
.
✅ กรณีมีการยื่นแบบไว้ และเสียภาษีไม่ถูกต้อง หรือ เสียไม่ครบ เจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบย้อนหลัง 2 ปี (ไม่นับปีที่มีรายได้) แต่หากพบว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี อาจขยายเวลาถึง 5 ปี
.
❌ หากไม่มีการยื่นแบบไว้เลย อำนาจในการตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปี 😭
.
#ภาษีย้อนหลัง #ภาษีมูลค่าเพิ่ม #กรมสรรพากร #คุยเฟื่องเรื่องTAX #phasitalk #รู้ภาษีมีแต่ได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *