สัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของแตกต่างกันอย่างไร

สัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของแตกต่างกันอย่างไร

📌 สัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของแตกต่างกันอย่างไร
.
👉 ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน
ตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา575 ได้อธิบาเกี่ยวกับลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานไว้ก็คือ เป็นสัญญาที่มีบุคคลอยู่สองฝ่าย ซึ่งฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “นายจ้าง” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ลูกจ้าง” ซึ่งทางฝ่ายลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อจะได้รับสินจ้างเป็นค่าตอบแทนจากการทำงานนั้น ส่วนทางฝ่ายนายจ้างนั้นประสงค์จะได้แรงงานของลูกจ้าง และนายจ้างก็มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง สัญญาจ้างแรงงานนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือ เป็นสัญญาที่มีการตอบแทนซึ่งกันและกัน การตอบแทนซึ่งกันและกันของสัญญานี้ก็คือ ลูกจ้างมีหนี้ที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง ส่วนนายจ้างนั้นก็มีหนี้ที่ต้องตอบแทนให้แก่ฝ่ายลูกจ้างก็คือการจ่ายค่าสินจ้างตอบแทนในการทำงานของลูกจ้าง
.
👉 ลักษณะของสัญญาจ้างทำของ
ตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา587 ได้อธิบายเกี่ยวกับลักษณะของสัญญาจ้างทำของไว้ก็คือ เป็นสัญญาที่มีบุคคลอยู่สองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับจ้าง” ตกลงจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น สัญญาจ้างทำของนั้นเป็นสัญญาต่างตอบแทนเช่นเดียวกันกับสัญญาจ้างทำของ กล่าวคือ สัญญาจ้างทำของนั้นเป็นสัญญาที่ต้องมีการตอบแทนซึ่งกันและกัน การตอบแทนซึ่งกันและกันของสัญญานี้คือ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องทำงานจนสำเร็จเพื่อแลกกับสินจ้าง ส่วนผู้ว่าจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของผู้รับจ้าง
.
👉 ความเหมือนระหว่างสัญญาญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของ
– เป็นสัญญาต่างตอบแทน
– ผู้รับจ้างและลูกจ้าง มีหน้าที่ต้องทำการงานให้
– ผู้ว่าจ้างและนายจ้าง มีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างตอบแทนการงานที่ได้ทำให้
.
👉 ความแตกต่างระหว่างสัญญาจ้างแรงงานกับสัญญาจ้างทำของ
1.การทำงาน
– การจ้างแรงงาน ลูกจ้างจะต้องให้แรงงานหรือทำงานโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลสำเร็จของงาน แต่ต้องทำงานให้ครบถ้วนจามกำหนดเวลาที่ได้ตกลง
– การจ้างทำของ ผู้รับจ้างต้องทำการงานโดยมุ่งประสงค์ถึงผลสำเร็จของงานที่กระทำ โดยไม่คำนึงถึงแรงงาน หรือ ระยะเวลาที่จะต้องปฏิบัติงาน
.
2.วิธีคำนวณสินจ้าง
– การจ้างแรงงาน จะคำนวณสินจ้างตามระยะเวลา เช่น รายชั่วโมง รายเดือน รายวัน
– การจ้างทำของ จะคำนวณสินจ้างตามผลสำเร็จของงาน
.
3.คุณสมบัติของผู้ทำการงาน
– การจ้างแรงงาน เป็นสัญญาที่มุ่งถึงคุณสมบัติของลูกจ้างเป็นการเฉพาะตัว ลูกจ้างหรือนายจ้างจะโอนสิทธิ-หน้าที่ของตนไปให้บุคคลภายนอกโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอมไม่ได้ (มาตรา577 วรรค1และ2)
– การจ้างทำของ ไม่ใช่สัญญาเฉพาะตัว แต่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก แต่อาจเป็นสัญญาที่มีสาระสำคัญอยู่ที่ความรู้ความสามารถของผู้รับจ้างก็ได้ (มาตรา607) เช่น ทำสัญญาจ้างสถาปนิกออกแบบบ้าน เป็นสัญญาที่มุ่งถึงความรู้ความสามารถของผู้รับจ้าง
.
4.อำนาจบังคับบัญชา
– การจ้างแรงงาน นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้างให้ทำการงานตามสั่ง
– การจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับบัญชาควบคุมการทำงาน ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องทำงานให้เสร็จเท่านั้น โดยจะใช้วิธีการใดก็ได้
.
5.เครื่องใช้สัมภาระ
– การจ้างแรงงาน เครื่องมือเครื่องใช้สัมภาระเป็นของนายจ้าง
– การจ้างทำของ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานนั้น ผู้รับจ้างจะเป็นผู้จัดหามาเอง (มาตรา588) รวมตลอดถึงสัมภาระชนิดที่ดีด้วย เว้นแต่จะตกลงไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา589)
.
6.ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกอันเกิดจากการกระทำในทางการที่จ้าง
– การจ้างแรงงาน นายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น (มาตรา425)
– การจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนได้ให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง (มาตรา428)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *