เลือกหักค่าใช้จริงตามจริง ควรเตรียมตัวอย่างไร

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

   ผู้ที่ประกอบธุรกิจค้าขายในรูปแบบบุคคลธรรมดา  ไม่ว่าจะค้าขายโดยมีหน้าร้าน หรือขายออนไลน์  เมื่อต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ส่วนมากมักจะเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาเพราะสะดวก และไม่ได้เก็บเอกสารค่าซื้อสินค้า ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไว้  ทำให้ไม่สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงได้   จึงต้องเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาซึ่งอยู่ในอัตรา 60%   ทำให้กำไรที่แท้จริงลดน้อยลง เพราะภาษีถือเป็นต้นทุนของสินค้าอย่างหนึ่ง ดังนั้นผู้ประกอบการแม้จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา การวางแผนภาษีเพื่อเสียภาษีอย่างถูกต้องและประหยัดก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเรียนรู้และปฏิบัติ มิฉะนั้นกำไรที่เกิดขึ้นอาจจะไม่พอชำระภาษีก็เป็นได้

บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจพาณิชย์ ค้าขาย  เมื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธีคือ

  1. หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% (หากกิจการมีต้นทุนที่ต่ำกว่า 60% แนะนำให้ใช้วิธีนี้เพราะไม่ต้องเก็บเอกสาร)
  2. หักค่าใช้จ่ายตามจริง (ต้องเก็บเอกสารเพื่อประกอบการตรวจสอบ)

 ก่อนอื่นผู้ประกอบการจะต้องรู้ต้นทุนรวมของสินค้าก่อน  ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ต้นทุนในที่นี้ไม่ใช่แค่ค่าซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่จะรวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วย   หากต้นทุนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60%   ก็สามารถมองเห็นผลขาดทุนได้อย่างชัดเจนแน่แล้ว   หากยังเลือกยื่นแบบภาษีเงินได้โดยเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา เท่ากับยิ่งขาดทุนเข้าไปกันใหญ่  

ดังนั้น หากต้นทุนสูงผู้ประกอบการจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีหักค่าใช้จ่ายตามจริง แต่การจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้นั้นผู้ประกอบการจะต้องจัดทำเอกสารเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถนำไปพิสูจน์รายจ่ายได้ตอนยื่นภาษีเงินได้  ตามไปดูวิธีการเตรียมเอกสารเพื่อเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงกันค่ะ

สิ่งที่ต้องจัดทำเมื่อเริ่มประกอบธุรกิจ

  1. จัดทำบัญชีรายรับ -รายจ่าย ทุกเดือน
  2. แยกบัญชีธนาคารสำหรับธุรกิจออกจากบัญชีส่วนตัว เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบรายการ
  3. เก็บเอกสารรายรับ รายจ่าย ประกอบรายงาน
  4. กรณีขายสินค้าที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากยอดเกิน 1.8 ล้าน ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ( ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะอาจนำมาให้ถูกประเมินภาษีย้อนหลังได้

การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพกร

      1.จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ลงบันทึกรายการตามแบบฟอร์มบัญชีรายรับ-รายจ่าย โดยจะลงแยกเป็นแต่ละรายการ หรือ จะลงสรุปยอดรวมของวันก็ได้

  1. รายการที่จะนำมาลงในรายงาน

   (1) ต้องเป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ

   (2)  รายการที่ลงต้องมีเอกสารประกอบเช่น ใบเสร็จรับเงิน  ใบกำกับภาษี หรือ เอกสารที่พิสูจน์ได้ถึงมีการจ่ายจริง

   (3) หากมีการขายเชื่อ หรือ ซื้อเชื่อ ให้ลงรายการในวันที่ได้รับเงิน หรือ จ่ายเงิน โดยอธิบายเพิ่มเติมในช่องหมายเหตุ

  1. สรุปยอดรายรับ รายจ่าย เป็นรายเดือน เพื่อนำไปใช้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้

.

วิธีนำยอดในรายงานในยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ช่อง “รายรับ” ในรายงาน  ถือเป็น “ยอดเงินได้พึงประเมิน”

ช่อง “รายจ่าย” ในรายงาน ถือเป็น “รายจ่ายหักตามจริง”

เงินได้จากการค้าขาย ถือเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (8 ) กำหนดเวลายื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีละ 2 ครั้ง

  1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) รายได้ของเดือน มกราคม – มิถุนายน ยื่นภายใน 30 กันยายน ของปี
  2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) รายได้ของเดือนมกราคม – ธันวาคม ยื่นภายใน 31 มีนาคม ของปีถัดไป

ประโยชน์ของการทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย

  1. ทำให้ผู้ประกอบการทราบถถึงรายได้ ค่าใช้จ่าย และผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจ
  2. ใช้เป็นหลักฐานในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้
  3. สามารถยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยยอดที่ถูกต้อง
  4. ทำให้สามารถทราบยอดรายได้ที่แท้จริง กรณียอดขายเกิน 1.8 ล้าน จะสามารถจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทันที
  5. ใช้เป็นหลักฐานกรณีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรขอตรวจสอบ
  6. เป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการประเมินธุรกิจ เพื่อวางแผนขยายกิจการในอนาคตได้

การจัดเก็บเอกสารรายจ่าย

มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ซื้อสินค้ามาขายแล้วไม่มีใบเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งมาจากต่างประเทศไม่มีเอกสาร หรือ ซื้อจากบุคคลธรรมดา ซึ่งมีแนวทางในการจัดทำเอกสารประกอบ ในแต่ละกรณีดังต่อไปนี้

.

กรณีซื้อสินค้าและได้รับใบเสร็จรับเงินถูกต้อง

    ในการซื้อสินค้าผู้ประกอบการพยายามเลือกซื้อจากแหล่งที่มีเอกสารถูกต้อง ครบถ้วน หากเป็นไปได้  และในการชำระค่าสินค้าควรเลือกใช้วิธีการโอนเงิน หลีกเลี่ยงการชำระเป็นเงินสด

  1. ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี
  2. หลักฐานการโอนเงิน (ควรหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินเงินสด)

.

กรณีซื้อสินค้าและไม่ได้รับใบเสร็จรับเงินถูกต้อง

 บางครั้งผู้ประกอบการเอง อาจมีทางเลือกน้อยในการซื้อสินค้าจากแหล่งที่มีเอกสารถูกต้อง อาจจะด้วยสาเหตุว่า ราคาสินค้าที่ถูกกว่า หรือเป็นสินค้าที่หายาก  แต่ผู้ประกอบการสามารถวางแผนและจัดเตรียมเอกสาร เพื่อใช้เป็นหลักฐานได้ ยกตัวอย่างเป็นแต่ละกรณี ดังต่อไปนี้

  1. กรณีซื้อจากบุคคลธรรมดา จัดทำใบสำคัญรับให้ผู้ขายเซ็นพร้อมแนบสำเนาบัตรประชนชน

  1. ซื้อสินค้าแล้วได้ใบเสร็จไม่ถูกต้อง ให้เลือกทำใบแทนใบเสร็จรับเงิน สำเนาใบโอนเงิน และ รูปถ่ายสินค้า ประกอบ

  1. หลักฐานการเจรจาซื้อสินค้า อาจจะเป็นทาง Line ทาง e-mail  สำเนาใบโอนเงิน และ รูปถ่ายสินค้า

      ในการจัดทำเอกสารประกอบการจ่ายสามารถพิจารณาได้ว่าเพียงพอต่อการพิสูจน์กับเจ้าหน้าที่ให้เชื่อได้ว่าต้นทุนสินค้าที่ซื้อมาหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จ่ายไป เป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง และมีการจ่ายจริง

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เห็นประโยชนย์ของการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย หรือยังคะ ถึงแม้ว่าจะยุ่งยากหน่อย (ไม่หน่อยสิมากอยู่นา)  แต่ผลที่ได้รับคุ้มค่าอยู่นะคะ  การทำธุรกิจย่อมหวังในผลกำไรที่สูง แต่ต้องอยู่ภายใต้ของการเสียภาษีที่ถูกต้อง ซึ่งในการจะสามารถประหยัดภาษีได้ก็ต้องมีการวางแผนภาษีที่ดี ด้วยค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *